25 เมษายน 2566 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ  ภูริเดช ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์  รักษ์เจริญ,       พ.ต.อ.ชัฏฐ  นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา  กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., ว่าที่ พ.ต.อ.สุพจน์  พุ่มแหยม ผกก.4      บก.ปคบ., นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภก.ฉัตรชัย พานิชศุภภรณ์ ผู้อำนวยการกองผลิตภัณฑ์สมุนไพร ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติ กรณีตรวจค้นสถานที่ลักลอบผลิตและขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรเถื่อน ย่านเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน จำนวนกว่า 60,000 แคปซูล และเครื่องจักรสำหรับผลิตสมุนไพรจีน มูลค่ากว่า 800,000 บาท

     สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้รับแจ้งจากผู้บริโภคว่า มีเพจเฟซบุ๊ก ชื่อ "หมอเถียรแพทย์แผนจีน" มีการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรจีนทั้งชนิดแคปซูลและน้ำสมุนไพรจีน ในลักษณะกล่าวถึงสรรพคุณการรักษาที่เกินจริง โดยมีการกล่างอ้างว่า ยาสมุนไพรขนานเดียวสามารถรักษาอาการต่าง ๆ ได้ครอบจักรวาล เช่น สามารถปรับสมดุลร่างกาย รักษาเรื่องการนอนไม่หลับ คอแห้ง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ตาแห้ง เวียนหัว ไมเกรน กรดไหลย้อน ขับถ่ายไม่ดี ชาปลายมือปลายเท้า ออฟฟิตซินโดรม ปวดหลัง ปวดคอ บำรุงตับและสรรพคุณอีกหลายประการ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ตรวจสอบเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว พบว่าผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในเพจเฟซบุ๊กนั้น ไม่มีการขออนุญาตในการผลิตและขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนจนกระทั่งทราบว่ามีแหล่งจำหน่าย และผลิตสมุนไพรอยู่ที่พื้นที่เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร

     ต่อมาในวันที่ 21 เมษายน 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นำหมายค้นของศาลจังหวัดพระโขนง เข้าตรวจค้นอาคารแห่งหนึ่งในเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร พบผลิตภัณฑ์สมุนไพรชนิดแคปซูล จำนวน 1,000 กระปุก (60,000 แคปซูล), ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจีนชนิดน้ำบรรจุถุง รอการจำหน่าย กว่า 700 ถุง, อุปกรณ์การผลิตยาสมุนไพร, หม้อต้มน้ำสมุนไพรอัตโนมัติ 12 เครื่อง, เครื่องบรรจุยาชนิดแคปซูล จำนวน 1 เครื่อง และพยานหลักฐานอื่น ๆ จึงได้ตรวจยึดเป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดี

     จากการตรวจสอบพบว่า สถานที่ดังกล่าวตั้งขึ้นเพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรจีนโดยไม่มีการขออนุญาตในการผลิตและขายผลิตภัณฑ์สมุนไพร จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อีกทั้งผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่ตรวจพบในที่เกิดเหตุ ไม่ได้มีการขออนุญาตขึ้นทะเบียนตำรับผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผู้บริโภคจึงไม่สามารถทราบได้เลยว่า มีส่วนผสมอะไรในนั้นบ้าง จึงมีการอ้างถึงสรรพคุณในลักษณะสมุนไพรขนานเดียวรักษาโรคครอบจักรวาลเช่นนี้ พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ได้แจ้งข้อกล่าวหา นาย จวิ้น เฉียง สงวนนามสกุล อายุ 45 ปี ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสมุนไพรดังกล่าว ฐาน "ผลิต และขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต" โดยผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหาว่า ตนจบแพทย์แผนจีนมาจากประเทศจีน จากนั้นได้ขอใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์ แพทย์แผนจีน (ใช้ชื่อว่าหมอเถียร) เนื่องจากมีความรู้เรื่องสมุนไพรจีน จึงได้ทำการผลิตสมุนไพรบรรจุด้วยตนเอง โดยไม่ได้ขออนุญาตผลิตและขายแต่อย่างใด และเปิดจำหน่ายมาแล้วมากว่า 1 ปี

 

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม

  1. พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562

            - ฐาน "ผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต"ระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกิน

สามแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ   

            - ฐาน "ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต" ระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

            ภก.ฉัตรชัย พานิชศุภภรณ์ ผู้อำนวยการกองผลิตภัณฑ์สมุนไพร  กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ใช้ในการบำบัด บรรเทารักษา ป้องกันหรือลดความเสี่ยงของการเกิดโรค อย. ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์และความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยสามารถตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรใดได้รับอนุญาตแล้ว จากเลขที่ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับ หรือเลขที่แจ้งรายละเอียด หรือเลขที่รับจดแจ้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร ส่วนการขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้น ผู้ขายต้องมีใบอนุญาตขายผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยกเว้นการขาย "ผลิตภัณฑ์สมุนไพรขายทั่วไป" ที่ผู้ขายไม่ต้องมีใบอนุญาตขาย ซึ่งสังเกตได้จากบนฉลากผลิตภัณฑ์ ระบุคำว่า "ผลิตภัณฑ์สมุนไพรขายทั่วไป" เป็นตัวอักษรอยู่ในกรอบสีเขียว จึงขอฝากพี่น้องประชาชน ให้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ได้รับอนุญาต และซื้อจากผู้ขายที่มีหลักแหล่งชัดเจน กรณีสงสัยว่าผลิตภัณฑ์ได้รับอนุญาตหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้จาก www.fda.moph.go.th และ Line@FDAThai   และหากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

          พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ควรใช้ความระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรและยามารับประทานเพื่อรักษาโรค ควรเลือกซื้อจากร้านขายยา หรือผู้ที่ได้รับอนุญาตขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ได้รับอนุญาต เนื่องจากเป็นสิ่งที่ร่างกายรับประทานและส่งผลโดยตรงกับร่างกาย กระบวนการผลิตต้องได้มาตรฐานตามหลักวิชาการ และขอเตือนผู้ที่ลักลอบผลิต และขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้หยุดการกระทำดังกล่าวทันที โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะขยายผลและกวาดล้างต่อไป หากตรวจพบจะดำเนินคดีถึงที่สุด เพราะท่านกำลังทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตราย เกิดผลกระทบกับร่างกายและเสียโอกาสได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค

"ผู้ต้องหาหรือจําเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคําพิพากษาถึงที่สุด"

************************************

วันที่เผยแพร่ข่าว     25 เมษายน 2566     แถลงข่าว 14 / ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566



   


View 698    25/04/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ