กระทรวงสาธารณสุข สมาคมส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพไทย สมาคมความรอบรู้ด้านสุขภาพแห่งเอเชีย และมหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมจัดประชุมวิชาการสมาคมความรอบรู้ด้านสุขภาพแห่งเอเชียระหว่างประเทศ ครั้งที่ 9 (The 9th Asian Health Literacy Association International Conference 2023 :The 9th AHLA International Conference 2023) ระหว่างวันที่ 14 -17 พฤษภาคม 2566 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง นักบริหาร นักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงานเรื่องความรอบรู้ด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน พร้อมด้วย นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และ Prof. Angela Leung, President, Asian Health Literacy Association (AHLA) Prof. Stephan Van de Brouke, Vice President, International Union for Health Promotion and Education (IUHPE) Prof. Peter Chang, Honor President of AHLA นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายแพทย์จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เขต 11 รองศาสตราจารย์นายแพทย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ศาตราจารย์ ดร.วงศา เล้าหศิริวงศ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ นายกสมาคมส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพไทย และผู้เข้าประชุมภาครัฐ เอกชน นักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ร่วมงาน ณ โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

          วันนี้ (15 พฤษภาคม 2566) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมวิชาการระหว่างประเทศ ดังกล่าวข้างต้น ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีแนวทางการขับเคลื่อนความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชน โดยผลักดันให้เป็นแผนพัฒนาประเทศ ได้แก่ แผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนายุทธศาสตร์ชาติด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสู่ความเป็นเลิศมติสมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 11 และ12 รวมถึงแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่ 13 โดยมีกรอบการขับเคลื่อนความรอบรู้ด้านสุขภาพในประเทศไทย 5 ด้าน คือ 1) การพัฒนาองค์กรใน 3 ระบบ (ระบบการศึกษา ระบบสุขภาพ และระบบสังคมชุมชน) ให้เป็นองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพ 2) พัฒนาระบบการสื่อสาร และเฝ้าระวังข้อมูลเสี่ยงต่อสุขภาพ3) สนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม 4) การพัฒนากำลังคนด้านการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ และ 5) การพัฒนากลไกการขับเคลื่อนความรอบรู้ด้านสุขภาพ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมอนามัย และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เร่งยกร่างแผนปฏิบัติการด้านความรอบรู้ด้านสุขภาพแห่งชาติ ให้สอดคล้องกับแผนแม่บท เพื่อขับเคลื่อนในปี 2566 – 2570

          ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการสำรวจความรอบรู้ด้านสุขภาพของคนไทย อายุ 15 ปีขึ้นไป ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2562 พบว่า ในภาพรวมคนไทยมีคะแนนเฉลี่ยความรอบรู้ด้านสุขภาพ ร้อยละ 65 โดยประชาชนร้อยละ 19 มีความรอบรู้ไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจดูแลจัดการสุขภาพ โดยเรื่องที่คนไทยมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ น้อยที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพส่วนหนึ่งเกิดจากข้อจำกัดในการสืบค้นและค้นหาข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่น่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะความรอบรู้ด้านสุขภาพ ดังนั้น การยกร่างแผนปฏิบัติการด้านความรอบรู้ด้านสุขภาพ จึงเน้น 4 ยุทธศาสตร์หลัก คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเพิ่มศักยภาพในการจัดการสุขภาวะของคนทุกกลุ่มวัย เป้าหมายเพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลจัดการดูแลสุขภาพตนเองและบอกต่อได้ ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาภาคีเครือข่ายประชาชน องค์กร ชุมชนท้องถิ่น เป้าหมายเพื่อให้สามารถจัดการปัจจัยเสริมและปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามสุขภาวะ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ การศึกษา สังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี เป้าหมาย เพื่อให้เกิดองค์กรรอบรู้และเป็นสังคมรอบรู้ด้านสุขภาพ และยุทธศาสตร์ที่ 4 สนับสนุนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เป้าหมายเพื่อให้เกิด Policy for Health Literacy อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ทางด้าน นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตมีความยินดีอย่างยิ่ง  ที่ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมวิชาการในครั้งนี้ และได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านการนำเสนอวิชาการเข้าประชุมภาครัฐ เอกชน นักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงผู้เข้าประชุมได้มีโอกาสสัมผัสทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงาม ความงดงามและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดภูเก็ต ทำให้ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่น่าจดจำสำหรับนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ จังหวัดภูเก็ต ได้พัฒนาระบบสุขภาพเพื่อส่งเสริมสุขภาพประชาชน โดยมีนโยบายการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่พักบนเกาะภูเก็ต ได้ดูแลสุขภาพของตนเองได้อย่างเหมาะสม และได้รับบริการด้านการดูแลสุขภาพ และความสุขที่หลากหลายจากสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ วัดฉลอง แหลมพรหมเทพ  รวมทั้งอาหารทะเลที่มีให้เลือกมากมาย พร้อมสร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน ให้มีโอกาสได้กลับมาเยือนจังหวัดภูเก็ตอีกครั้งในโอกาสต่อไป

          ทางด้าน รองศาสตราจารย์นายแพทย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดประชุมวิชาการฯ ครั้งนี้ เพราะเป็นเวทีที่รวบรวมความรู้ ประสบการณ์ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งช่วยพัฒนาองค์ความรู้ด้านการสร้างความรู้ด้านสุขภาพของประเทศ เพื่อยกระดับให้ประชาชนทั้งในประเทศและทั่วโลกให้ความสำคัญในการสร้างสุขภาพที่ดี ด้วยการสร้างการเข้าถึง การทำความเข้าใจ และการใช้ข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพ อย่างเหมาะสม ซึ่งการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพเป็นความท้าทายของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากความหลากหลายของประชากรและการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่แตกต่างกัน และการประชุมในครั้งนี้เป็นการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงานเรื่องความรอบรู้ด้านสุขภาพจากทั่วโลกเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แบ่งปันข้อมูลเชิงลึก และประสบการณ์ เพื่อเป็นแนวทางการสร้างความรอบรู้ที่มีประสิทธิภาพพร้อมพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีส่วนร่วม อย่างแข็งขันในพื้นที่ขอนแก่น และยินดีที่ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมที่ครั้งนี้

         ทางด้าน Prof. Angela Leung, President, Asian Health Literacy Association (AHLA) กล่าวว่า ยินดีอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับทุกคนเข้าสู่การประชุมในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นวันครบรอบ 10 ปี ของ Asian Health Literacy Association (AHLA) และขอขอบคุณเจ้าภาพใoประเทศไทย ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สมาคมส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพไทย และกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ร่วมกันจัดการประชุมวิชาการสมาคมความรอบรู้ด้านสุขภาพแห่งเอเชียระหว่างประเทศ ครั้งที่ 9 ในหัวข้อการประชุมคือ “ALL FOR HEALTH LITERACY” เพื่อพัฒนาความรู้ด้านสุขภาพระดับโลก และระดับภูมิภาคในเอเชีย รวมถึงประเทศไทยที่ได้ส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชน แพทย์ ผู้ดูแล และผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้เป็นเวทีที่ดีที่สุด ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์ในการทำงานด้านความรู้ด้านสุขภาพร่วมกันเพื่อพัฒนางานความรู้ด้านสุขภาพและแก้ไขปัญหาระดับความรู้ด้านสุขภาพไม่เพียงพอของประชาชน และการจัดการทางสุขภาพที่ไม่เท่าเทียมกัน ให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็น

          ทางด้าน นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ นายกสมาคมส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพไทย กล่าวว่า ปีนี้ ประเทศไทย โดยสมาคมส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพไทย (Thai Health Literacy Promotion Association : AHLA)  ร่วมกับสมาคมความรอบรู้ด้านสุขภาพแห่งเอเชีย (Asian Literacy Association: AHLA) คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการสมาคมความรอบรู้ด้านสุขภาพแห่งเอเชียระหว่างประเทศ ครั้งที่ 9 (The 9th Asian Health Literacy Association International Conference 2023 :The 9th AHLA International Conference 2023) ระหว่างวันที่ 14 -17 พฤษภาคม 2566 ณ โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง นักบริหาร นักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงาน นำไปสู่การยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพในเอเซีย โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนกว่า 400 คน และมีผลงานวิชาการด้านการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพนำเสนอกว่า 200 ผลงาน จากทั้งในประเทศและต่างประเทศซึ่งจะสามารถพัฒนาต่อยอดการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชนต่อไป

กรมอนามัย / 15 พฤษภาคม 2566



   
   


View 460    15/05/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ