กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ รู้เลข รู้เสี่ยง เลี่ยงโรคไม่ติดต่อ มุ่งเน้นให้ประชาชนสามารถวัดความดันโลหิตได้อย่างถูกต้องและทราบค่าความดันโลหิต เพราะโรคความดันโลหิตสูง ถึงแม้จะไม่มีอาการแต่ก็อาจทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจขาดเลือด โรคไตเรื้อรัง และเสียชีวิตได้ เผยพบประชากรไทย 1 ใน 4 ป่วยเป็นโรคความดันโลหิต แต่มากกว่า 7 ล้านคนที่ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงและยังไม่ได้มารับการรักษา

          วันนี้ (17 พฤษภาคม 2566) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในวันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension Day) โดยปี 2566 นี้ สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension League) ได้กำหนดประเด็นการรณรงค์ คือ “Measure Your Blood Pressure Accurately, Control It, Live Longer. ความดันสูงเกินไป คุมให้ดี ยืดชีวีให้ยืนยาว” โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนสามารถวัดความดันโลหิตได้อย่างถูกต้องและทราบค่าความดันโลหิตของตนเอง สามารถแปลผลความดันโลหิตได้ เพราะโรคความดันโลหิตสูงถึงแม้จะไม่มีอาการ แต่อาจทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจขาดเลือด โรคไตเรื้อรัง และเสียชีวิตได้ จึงควรควบคุมความดันโลหิตให้น้อยกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท ถ้าเกิน 130/80 มิลลิเมตรปรอท คือ เริ่มสูงต้องเริ่มปรับพฤติกรรม ถ้าสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ถือว่าป่วยเป็นความดันโลหิตสูงต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์และเข้ารับการรักษา ถ้าเกิน 160/100 มิลลิเมตรปรอท คือ สูงมากซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และถ้าเกิน 180/110 มิลลิเมตรปรอท สูงถึงขีดอันตรายต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

          ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมากถึง 14 ล้านคน และมากกว่า 7 ล้านคนที่ป่วยแต่ยังไม่เข้ารับการรักษา โรคความดันโลหิตสูงส่วนมากมักไม่แสดงอาการ หากผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานและไม่ได้รับการรักษา ความรุนแรงของโรคจะเพิ่มมากขึ้น และอาจมีอาการต่างๆ ได้แก่ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หน้ามืด ใจสั่น ตาพร่ามัว เป็นลมหมดสติ และเกิดโรคแทรกซ้อนตามมา ได้แก่ โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

          นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคความดันโลหิตสูงถึงแม้จะไม่มีอาการแต่ต้องรักษาและป้องกัน สำหรับวิธีป้องกันและรักษาโรคความดันโลหิตสูงทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้แก่ 1) งดทานอาหารรสเค็มหรือมีโซเดียมสูง โดยคนทั่วไปที่ไม่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงไม่ควรทานโซเดียมเกิน 2000 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ถ้าป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้วไม่ควรเกิน 1500 มิลลิกรัมต่อวัน  2) ออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์  3) ลดความอ้วน ให้ค่า BMI ไม่เกิน 23 กิโลกรัมต่อตารางเมตร แต่ถ้าคนที่ความดันสูงมากหรือคนที่ปรับพฤติกรรมแล้ว แต่ความดันยังเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท ต้องรับประทานยาร่วมด้วย ผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์และรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอถึงแม้จะไม่มีอาการ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมากและทำให้เสียชีวิตได้

          นายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2566  กรมควบคุมโรคร่วมกับสมาคมความดันโลหิตสูงโลก จัดกิจกรรมการประกวดคลิปวิดีโอ (Clip VDO) โรคความดันโลหิตสูงในหัวข้อ “Measure Your Blood Pressure Accurately, Control It, Live Longer. ความดันสูงเกินไป คุมให้ดี ยืดชีวีให้ยืนยาว” พร้อมทั้งจัดงานเสวนาวันความดันโลหิตสูงแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคความดันโลหิตสูง โดยผู้ป่วยและแพทย์ผู้ดูแลมุ่งเน้นให้ประชาชนสามารถวัดความดันโลหิตได้อย่างถูกต้องและทราบค่าความดันโลหิตของตนเองพร้อมทั้งสามารถแปลผลความดันโลหิตของตนเองได้ ประชาชนควรควบคุมความดันโลหิตให้น้อยกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท เพื่อยืดชีวิตให้ยืนยาวขึ้น สำหรับวิธีวัดความดันโลหิตที่ถูกต้องคือวัดความดันโลหิตในช่วงเช้าภายใน 1 ชั่วโมง หลังตื่นนอน หรือหลังปัสสาวะแล้ว วัดความดันจำนวน 2 ครั้ง ให้ห่างกันครั้งละ 1 นาที วัดช่วงเวลาก่อนเข้านอนโดยวัดความดัน 2 ครั้ง ให้ห่างกันครั้งละ 1 นาที นั่งเก้าอี้ให้หลังพิงพนักเพื่อไม่ให้หลังเกร็ง เท้าทั้ง 2 ข้าง วางราบกับพื้นให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย วัดความดันโลหิตในแขนข้างที่ไม่ถนัด หรือข้างที่มีความดันโลหิตสูงกว่า โดยวางแขนให้อยู่ในระดับเดียวกันกับหัวใจ ขณะวัดความดันโลหิตไม่กำมือ ไม่พูดคุยหรือขยับตัว ทั้งนี้ ควรวัดความดันหลังจากนั่งพักอย่างน้อย 30 นาที และ 1 ชั่วโมง หลังรับประทานอาหาร ดื่มกาแฟ สูบบุหรี่ หรือ ออกกำลังกาย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

************************

ข้อมูลจาก : กองโรคไม่ติดต่อ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 17 พฤษภาคม 2566



   
   


View 1121    17/05/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ