กรมวิทย์ฯ เปิดเวทีผนึกกำลังผู้ประกอบการ ร่วมพัฒนาธุรกิจสุขภาพ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ระดับโลก


  วันนี้ (18 พฤษภาคม 2566) ที่โรงแรมแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดการประชุมกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบผู้ประกอบการ:Medical sciences towards Health for Wealth เพื่อรับฟังความต้องการของผู้ประกอบการที่กรมมีศักยภาพที่จะเสริมหนุนอุตสาหกรรมการแพทย์ การพัฒนาธุรกิจสุขภาพของประเทศและเป็นโอกาสที่ประกอบการและผู้บริหารกรมได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะที่กรมจะนำไปพัฒนางานบริการ งานวิจัย ให้มุ่งสู่เป้าหมายเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยตามแนวทาง Health for Wealth ที่มุ่งใช้ความมีสุขภาพดีสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เพื่อเป้าหมาย “ประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแรง”


  นายแพทย์ศุภกิจศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้านความสวยงาม อาหารเพื่อสุขภาพ การออกกำลังกาย การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการแพทย์ผสมผสาน เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีศักยภาพและมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาล โดยในปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าประเทศไทยมีรายได้จากธุรกิจสุขภาพกว่า 1.8 แสนล้านบาท และใน 10 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นกว่า 2.5 ล้านล้านบาท ส่วนสำคัญมาจากประชาชนให้ความสำคัญกับสุขภาพมากยิ่งขึ้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ซึ่งมีภารกิจด้านการค้นคว้าวิจัย พัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการให้บริการที่พร้อมสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน จึงได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นผู้ประกอบการ จัดแสดงผลงานนวัตกรรมที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์วิจัยและพัฒนาขึ้น พร้อมหารือการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อผลักดันธุรกิจสุขภาพไทยเข้มแข็ง สำหรับศักยภาพและความพร้อมของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการสนับสนุนผู้ประกอบการประกอบด้วย ด้านการวิจัย พัฒนา


วิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชน เช่น ชุดตรวจโควิด 19 ชุดตรวจวัณโรค ชุดตรวจกัญชาสำหรับทดสอบปริมาณสาร TH ในสารสกัดกัญชา หรือน้ำมันกัญชา พัฒนาการตรวจทางพันธุศาสตร์และจีโนมิกส์ทางการแพทย์รองรับการแพทย์แม่นยำ พัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวเภสัชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง เพื่อการวินิจฉัยป้องกันโรคและการรักษาเฉพาะบุคคล 


การผลิตสารมาตรฐาน เช่นสารสกัด THC และ CBD สารมาตรฐานฟาวิพิราเวียร์ ผลิตตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย(Thai HerbalPharmacopoeia.) สำหรับอ้างอิงการตรวจวิเคราะห์ยาสมุนไพร การสร้างองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการสกัด พิสูจน์สารสำคัญ และรับรองฤทธิ์ทางเภสัชสมุนไพรให้เอกชนนำไปใช้ต่อยอดการผลิตในอุตสาหกรรมอาหาร ยา เครื่องสำอาง 
นอกจากนี้ยังมีห้องปฏิบัติการฝึกอบรมเพื่อความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ห้องปฏิบัติการ  BSL2 และ BSL3 สำหรับงานวิจัย และสวนสมุนไพรกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รวมทั้งได้พัฒนา One Stop Service ให้บริการแบบออนไลน์ ผ่านระบบไอ แล็บ พลัส เพิ่มความสะดวกให้ผู้รับบริการ บริการรวดเร็ว ลดการรอคอยด้วย e-Submission ส่งคำขอได้ทุกที่ทุกเวลาe-Report ดาวน์โหลดรายงานผ่านอินเตอร์เน็ตe-Tracking ตรวจสอบสถานะตัวอย่าง และ Historical ตรวจสอบสถานะการส่งตัวอย่างได้


ด้านมาตรฐานห้องปฏิบัติการ รับรองห้องปฏิบัติการตามาตรฐานสากล  ทำงานในรูปแบบ Single platform สามารถรับบริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว รวมทั้งเป็นหน่วยรองรับขึ้นทะเบียน หน่วยทดสอบทางห้องปฏิบัติการผลิตภัณฑ์ตามหลักการ OECD GLP ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบความปลอดภัยจากห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าวแล้วสามารถนำไปขึ้นทะเบียนจำหน่ายได้ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสมาชิก OECD ที่มีมากว่า 50 ประเทศทั่วโลกโดยไม่ต้องทำการทดสอบซ้ำในต่างประเทศ ช่วยให้เจ้าของผลิตภัณฑ์ประหยัดค่าใช้จ่ายและลดระยะเวลาในการขึ้นทะเบียน จึงเป็นการเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันในตลาดการค้ากับต่างประเทศได้มากขึ้น


“วันนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขพร้อมพัฒนาห้องปฏิบัติการ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจสุขภาพของประเทศ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ยกระดับอุตสาหกรรมทางการแพทย์ของประเทศไทย มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ระดับโลก” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว
************** 18 พฤษภาคม 2566

ที่มา - กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์



   
   


View 599    18/05/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ