ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 เผย สถานการณ์โรคอุจจาระร่วงระบาดใน จ.ภูเก็ต แนวโน้มดีขึ้น พบผู้ป่วยรายใหม่ลดลงเหลือ 376 ราย จากที่เคยสูงสุดกว่า 1,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 15-34 ปี ผลตรวจหาเชื้อ 75% พบโนโรไวรัส ขณะที่ตัวอย่างน้ำและน้ำแข็งไม่พบเชื้อไวรัสก่อโรค ยังคงเฝ้าระวังเข้มข้น ลงพื้นที่ที่มีความเชื่อมโยงกับผู้ป่วย เพื่อค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมพร้อมติดตามสอบสวนโรค

          วันนี้ (14 มิถุนายน 2566) นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 กล่าวถึงความคืบหน้าสถานการณ์โรคอุจจาระร่วง จ.ภูเก็ต ว่า หลังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจำนวนมากตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2566 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ได้ร่วมกับ กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช ทีมสอบสวนควบคุมโรคจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ออกปฏิบัติการควบคุมโรคในจุดต่างๆ พร้อมทั้งติดตามสอบสวนโรคหาสาเหตุ และยกระดับเป็นศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) โรคอุจจาระร่วง เพื่อติดตามสถานการณ์และวางแผนควบคุมการระบาด โดยพบผู้ป่วยในวันที่ 6 มิถุนายน 2566 จำนวน 383 ราย และเพิ่มขึ้นจนสูงสุดในวันที่ 9 มิถุนายน จำนวน 1,238 ราย จากนั้นผู้ป่วยเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยวันที่ 10 มิถุนายน พบผู้ป่วย 808 ราย วันที่ 11 มิถุนายน 659 ราย วันที่ 12 มิถุนายน 529 ราย ล่าสุดวันที่ 13 มิถุนายน 376 ราย

          นพ.กิตติศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสอบสวนโรคพบกลุ่มอายุ 25-34 ปี มีอัตราป่วยสูงสุด ร้อยละ 26.23 รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 19.20 กลุ่มอายุ 34-44 ปี ร้อยละ 14.12 กลุ่มอายุ 5-9 ปี ร้อยละ 10.76 และกลุ่มอายุ 10-14 ปี ร้อยละ 10.44 ตามลำดับ ผู้ป่วยอายุน้อยสุดคือ 28 วัน และมากสุด 98 ปี โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง มีผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพียง ร้อยละ 13.32 จากการเก็บตัวอย่างอุจจาระผู้ป่วยส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค พบเป็นโนโรไวรัส ร้อยละ 75 ส่วนอีกร้อยละ 25 ตรวจไม่พบเชื้อ สำหรับผลการตรวจโรงน้ำแข็ง 6 แห่งของ จ.ภูเก็ต และโรงผลิตน้ำดื่ม 3 แห่งใหญ่ ที่จำหน่ายในจังหวัด พบผ่านเกณฑ์มาตรฐานส่วนผลตรวจน้ำและน้ำแข็งไม่พบเชื้อไวรัสก่อโรค

          นพ.กิตติศักดิ์กล่าวต่อว่า แม้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย แต่ในการเฝ้าระวังควบคุมโรคยังคงดำเนินการต่อเนื่อง โดยให้โรงพยาบาลต่างๆ ใน จ.ภูเก็ต ค้นหาและเก็บตัวอย่างผู้ป่วยที่มีอาการชัดเจน พร้อมลงพื้นที่ที่มีความเชื่อมโยงกับผู้ป่วย เช่น ร้านอาหาร คอนโดที่พักผู้ป่วย ชุมชนที่พบผู้ป่วยใหม่หลายราย เพื่อค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมและเก็บตัวอย่างผู้ป่วยส่งตรวจ รวมถึงตรวจสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลอาหาร นอกจากนี้ จะติดตามตรวจคลอรีนในแหล่งผลิตน้ำประปา และแจ้งให้โรงแรมเติมคลอรีนในน้ำใช้ รวมทั้งประสานท้องถิ่นเรื่องการเพิ่มคลอรีนในระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยสู่แหล่งสาธารณะด้วย

 *************************************************  14 มิถุนายน 2566



   
   


View 18018    14/06/2566   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ