วันนี้ (15 มิถุนายน 2566) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการเยือนประเทศสหรัฐอเมริกาพร้อมกับนายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และสัตวแพทย์หญิงเสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็นในประเด็นสำคัญด้านการเตรียมพร้อมรับมือ ป้องกัน ตอบโต้และควบคุมโรคภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายระหว่างประเทศ ระหว่างวันที่ 4 - 8 มิถุนายน 2566 ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

          นายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า ในการเยือนสหรัฐในครั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้รับการเชิญจาก U.S. Department of Health and Human Services และได้ประชุมร่วมกับ U.S. Department of Treasury เพื่อหารือความร่วมมือ ใน 7 ประเด็นหลักที่กรมควบคุมโรคดำเนินการ ได้แก่ 1.การส่งคำขอ (proposal) ต่อการเข้าร่วมกองทุนโรคระบาด (Pandemic Fund)  2.ความคืบหน้าของศูนย์ ACPHEED  3.การเตรียมความพร้อมด้านระเบียบข้อกฎหมาย เพื่อตอบโต้ภัยทางด้านสาธารณสุขภายใต้วาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (GHSA: Legal Preparedness Action Package)  4.แนวทางการดำเนินงาน GHSA ในระยะที่สาม  5.กลไกการสร้างความยั่งยืนของแหล่งเงินทุนในการเตรียมพร้อมตอบโต้การระบาด  6.ความเป็นไปได้ในการผลักดันนักการทูตทางด้านสาธารณสุข (Health attache') และ 7.บทบาทของไทยต่อการปรับแก้ไขกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR Amendment) ซึ่งทั้ง 7 ประเด็นเป็นการขยายความร่วมมือและต่อยอดการทำงานความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการป้องกันควบคุมโรค ทำให้เกิดประโยชน์ต่อภารกิจของกรมควบคุมโรคในระดับสากล

          นายแพทย์อภิชาต กล่าวว่า สหรัฐฯ ให้ความสนใจในการทำความร่วมมือกับกรมควบคุมโรคในหลายประเด็น ซึ่งสองเรื่องหลักที่มีการหารือกันคือ 1.การเฝ้าระวังและพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านการรักษาพยาบาล และด้านห้องปฏิบัติการในสถานการณ์ระบาดของสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค ซึ่งทำได้ดีในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 และ 2.สนับสนุนต่อข้อคิดเห็นของกรมควบคุมโรคที่ประสงค์ผลักดันให้มีนักการทูตทางด้านสาธารณสุขของไทยในต่างประเทศ จากประสบการณ์ของสหรัฐฯ เอง พบว่านักการทูตทางด้านสาธารณสุขสามารถเจรจาและพัฒนาความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

          สัตวแพทย์หญิงเสาวพักตร์  กล่าวว่าในการเดินทางมาสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้มีโอกาสเสริมสร้างความเข้มแข็งกับเครือข่ายงานป้องกันควบคุมโรค อาทิ Yale School of Public Health, Defense Threat Reduction Agency (DTRA), สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน และหารือการพัฒนาโครงการด้านสาธารณสุขร่วมกับบริษัท Culmen International LLC ภายใต้แนวคิด Public-Private Partnership โดยเฉพาะงานด้านสุขภาพหนึ่งเดียวด้วย

          นายแพทย์ธเรศ กล่าวอีกว่า การหารือครั้งนี้ สนับสนุนให้ประเทศไทยมีโอกาสพัฒนาความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนมากขึ้น ผ่านโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และยังเพิ่มโอกาสให้ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายระหว่างประเทศในการเตรียมความพร้อมรับมือโรคระบาด รวมถึงพัฒนาแนวคิดเพื่อกำหนดบทบาทงาน GHSA ของประเทศไทยระยะต่อไป เพื่อสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพในประเทศและร่วมกับนานาประเทศ

 

************************************************
ข้อมูลจาก : สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค

วันที่ 15 มิถุนายน 2566



   
   


View 333    15/06/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ