มูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เชิดชู “ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เภสัชกรหญิงกฤษณา ไกรสินธุ์ มูลนิธิกฤษณา ไกรสินธุ์ เป็นนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี 2566 ซึ่งท่านเป็นผู้อุทิศตนในการพัฒนาและผลิตยาต้านไวรัสเอดส์และยาต้านมาลาเรีย รวมถึงยาสมุนไพรอันเป็นคุณูปการในการแก้ปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและประเทศอื่นทั่วโลก ผลงานที่เกิดขึ้นสามารถนำไปใช้ได้จริง เป็นประโยชน์ต่อคนไทยและมวลมนุษยชาติในการรักษาและการควบคุมโรค โดยจะได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลจากคุณหญิงลักษณาจันทร เลาหพันธุ์ รองประธานบริหารอาวุโส สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ผู้แทนพระองค์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 31 ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ร่วมกันจัดขึ้นในวันที่ 21 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี 

 นายแพทย์สถาพร วงษ์เจริญ ประธานกรรมการมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า มูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีนโยบายเชิดชูเกียรติบุคคลในวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ผู้มีคุณูปการต่อประเทศชาติ จึงได้จัดตั้งรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศขึ้นตั้งแต่ปี 2558 โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเพื่อรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศเป็นผู้ดำเนินงาน ภายใต้การรับรองของคณะกรรมการมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการดำเนินงานได้ประชาสัมพันธ์การสรรหานักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศตามหน่วยงานต่างๆ ในวงกว้าง เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงคณะกรรมการฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้เสนอชื่อบุคคลและผลงานของผู้ที่สมควรได้รับรางวัลดังกล่าว
นายแพทย์สถาพร กล่าวต่ออีกว่า ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เภสัชกรหญิงกฤษณา ไกรสินธุ์ ท่านเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรม เพื่อวิจัยและผลิตยาทั้งยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพรให้คนไทยได้ใช้ทั้งประเทศกว่าหนึ่งร้อยชนิด ทำให้มียาคุณภาพดีทัดเทียมกับต่างประเทศออกสู่ตลาดมากขึ้นและมีราคาถูกลง โดยผลงานอันโดดเด่น คือ การพัฒนาสูตรตำรับและศึกษาเภสัชชีวสมบูรณ์ของยาต้านเอดส์ชนิดต่างๆ ได้แก่ ยาสามัญเอแซดที (AZT) ป้องกันการติดเชื้อเอดส์จากแม่สู่ลูก ยาสูตรผสมรวมเม็ดต้านเอดส์หรือจีพีโอเวียร์ (GPO-VIR) และยาต้านเอดส์ชนิดอื่นอีก 5 ชนิด ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่สามารถผลิตยาต้านเอดส์ที่มีคุณภาพดี ราคาถูกกว่ายานำเข้าจากต่างประเทศ 5 ถึง 20 เท่า สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทยจำนวน 150,000 คน และยาจีพีโอเวียร์ถูกบรรจุในโปรแกรมการให้ยาต้านเอดส์แห่งชาติฟรี รวมทั้งร่วมก่อสร้างโรงงานผลิตยาต้านโรคเอดส์และยารักษาโรคมาลาเรียซึ่งเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในทวีปแอฟริกา พร้อมทั้งถ่ายทอดความรู้ ฝึกสอนบุคลากรของโรงงานผลิตยา โรงพยาบาล และสถาบันวิจัยและควบคุมคุณภาพยาแห่งชาติ ในทวีปแอฟริกา จำนวน 17 ประเทศ ให้สามารถผลิตยาต้านเอดส์และยารักษาโรคมาลาเรียช่วยชีวิตผู้ป่วยชาวแอฟริกาได้หลายล้านคน 

นอกจากนี้ท่านและภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสมุนไพรของไทย ผลิตยาสมุนไพรไทย จำนวน 4 ตำรับ เพื่อใช้รักษาโรคและส่งเสริมสุขภาพของคนไทยในท้องถิ่นทุรกันดาร โดยได้ก่อตั้งหน่วยฝึกอบรมเพื่อฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยยาเสพติดด้วยสมุนไพรและพัฒนาทักษะการปลูกพืชสมุนไพรแบบเกษตรอินทรีย์สำหรับผู้ป่วยยาเสพติด ภายใต้ชื่อ “สวนสราญรมย์โมเดล” เพื่อคืนคนดีสู่สังคม และได้ดำเนินงานภายใต้โมเดลอื่นๆ อีก ได้แก่ ลังกาสุกะโมเดล ภูกามยาวโมเดล จัมปาศรีโมเดล ช้างเผือกโมเดล และสามหมื่นโมเดล เป็นต้น เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และประโยชน์ของสมุนไพรไทย ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ โดยที่ประชาชนในพื้นที่ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นอย่างรู้คุณค่าเพื่อประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวม อีกทั้งยังได้ก่อตั้งหน่วยฝึกอบรม เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยที่ศึกษาด้านเภสัชศาสตร์และชาวแอฟริกาเดินทางมาเรียนรู้และฝึกงานการผลิตยาสมุนไพรในขั้นอุตสาหกรรม 


 นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เภสัชกรหญิงกฤษณา ไกรสินธุ์ ท่านเป็นบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ในสาขาเภสัชศาสตร์อย่างลึกซึ้ง อีกทั้งได้สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยด้านสมุนไพร รวมทั้งถ่ายทอดความรู้ให้แก่ลูกศิษย์และเพื่อนร่วมอาชีพในวงการเภสัชกรรม อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมทั้งภายในและต่างประเทศ สร้างชื่อเสียงของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จัก
อย่างกว้างขวางในประชาคมระหว่างประเทศ ผลงานทั้งหลายจึงเป็นที่ประจักษ์และยอมรับทั้งผลงานด้านวิชาชีพ ด้านวิชาการ ด้านบทความ งานวิจัย งานด้านมนุษยธรรม และมีบทความทางวิชาการกว่า 100 เรื่อง ซึ่งผลงานเหล่านี้ทำให้บุคคลที่เจ็บป่วย ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สามารถหายจากความทุกข์ทรมานและโรคร้าย กลับมามีชีวิตที่เป็นสุข พึ่งตนเองและมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ นอกจากนี้ท่านยังได้รับรางวัลต่างๆ มากมายทั้งในและต่างประเทศ โดยรางวัลสูงสุดที่ได้รับคือรางวัลรามอน แม็กไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี 2552 ที่ได้นำความรู้ความสามารถทางด้านเภสัชกรรม เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทยและในประเทศอื่นทั่วโลก นอกจากนี้ยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพายปฐมดิเรกคุณาภรณ์ ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่พระราชทานแก่ผู้กระทำความดีความชอบอันเป็นประโยชน์
แก่ประเทศชาติ ศาสนา และประชาชน

 


“การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 31 ประจำปี 2566 ภายใต้หัวข้อ “Smart Medical Sciences : Health for Wealth วิทยาศาสตร์การแพทย์ชาญฉลาด เพื่อสุขภาพที่ดีและเศรษฐกิจมั่งคั่ง” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 - 23 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี ในรูปแบบ Hybrid ทั้ง Onsite และ Online ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรับฟังปาฐกถาเกียรติยศ ศาสตราจารย์นายแพทย์เฉลิม พรมมาส เรื่อง “Life-saving Journey” องค์ปาฐก นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เภสัชกรหญิงกฤษณา ไกรสินธุ์ มูลนิธิกฤษณา ไกรสินธุ์ ได้ทางเพจเฟสบุ๊คการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ เวลา 10.45 - 11.15 น.” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวทิ้งท้าย

**************  20 มิถุนายน 2566



   
   


View 1243    20/06/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ