อย. ร่วม สสจ.นครปฐม และตำรวจ จับร้านยาลอบขายวัตถุออกฤทธิ์ เตือนโทษหนักทั้งปรับและจำคุก
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- 30 View
- อ่านต่อ
กรมควบคุมโรค โดยกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ สนธิกำลังร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จับยึดบุหรี่ไฟฟ้ารายใหญ่กว่า 3 ราย กลางตลาดนัด เลียบด่วน รามอินทรา กทม. โดยมีมูลค่าความเสียหายกว่าล้านบาท
วานนี้ (30 มิถุนายน 2566) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค มอบหมายให้ นายแพทย์ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ (กคส.) ส่งทีมนิติกร และพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ลงพื้นที่ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อจับกุมร้านขายบุหรี่ไฟฟ้า หลังพบมีการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาสำหรับเติมบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมากจากต่างประเทศ โดยนำมาวางขายในตลาดนัดเลียบด่วนรามอินทรา
นายแพทย์ชยนันท์ กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ สคบ. ได้ติดตามตรวจสอบ พบว่า มีการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีลักษณะวางจำหน่ายที่หน้าร้าน ด้วยการโชว์แค็ตตาล็อกสินค้า เพื่อให้ลูกค้าได้เลือกรุ่น รูปแบบ กลิ่น และตกลงราคาก่อนจะนำเครื่องส่งให้ลูกค้า ซึ่งวันนี้ จึงระดมกำลังเข้าตรวจค้นและจับกุมทั้งหมด 3 แห่ง โดยมีมูลค่าความเสียหายกว่าล้านบาท สำหรับการปฏิบัติการครั้งนี้ กคส. ร่วมกับ สคบ. ดำเนินการตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 ลงวันที่ 28 มกราคม 2558 เรื่อง ห้ามขาย หรือห้ามให้บริการ บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า ในการตรวจอายัดและยึดไว้เพื่อดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ขายต่อไป
นายเลิศศักดิ์ รักธรรม ผอ.ส่วนบังคับคดี สคบ. กล่าวว่า สคบ. ต้องขอความร่วมมือไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งการป้องกันการระบาดไม่สามารถทำสำเร็จได้เพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน เช่นเหตุการณ์ครั้งนี้ ที่ได้รับการสนับสนุนจากทีมนิติกร และเจ้าหน้าที่ของ กคส. ร่วมลงปฏิบัติการครั้งนี้จนสัมฤทธิ์ผล เพื่อร่วมกันสร้างสังคมปลอดบุหรี่ไฟฟ้าอย่างยั่งยืน ฉะนั้น หากประชาชนพบการขายบุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ไฟฟ้า รวมถึงน้ำยาเติม สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โทร. 1166 ในวันและเวลาราชการ
นพ.ชยนันท์ กล่าวเสริมว่า บุหรี่ รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าล้วนแล้วแต่มีสารพิษ เสพติดอันตราย หากผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ ควรเข้ารับคำปรึกษา หรือเข้ารับบริการเลิกบุหรี่ที่สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน ซึ่งจะช่วยให้เลิกบุหรี่ได้สำเร็จอย่างยั่งยืน หรือ เลิกบุหรี่โทร.1600
***********************************
ข้อมูลจาก : กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 1 กรกฎาคม 2566