กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศไทยมีฝนตกชุกในหลายพื้นที่ทำให้แหล่งวางไข่ยุงลายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเดือนกรกฎาคมเป็นช่วงที่พบผู้ป่วยสูงสุดของปี ย้ำเตือนประชาชนควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออก เพื่อลดจำนวนผู้ป่วย

            วันนี้ (5 กรกฎาคม 2566) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในประเทศไทยตั้งแต่ในวันที่ 1 มกราคม - 28 มิถุนายน 2566 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมสูงถึง 27,377 ราย สูงกว่าปีที่ผ่านมา ณ ช่วงเวลาเดียวกันเกือบ 3 เท่า และมีรายงานผู้เสียชีวิตเข้าระบบการเฝ้าระวังเหตุการณ์ 33 ราย โดยตั้งแต่เดือนมิถุนายนพบผู้ป่วยสัปดาห์ละ 1,500 - 2,400 ราย เสียชีวิตสัปดาห์ละ 1-3 ราย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 5-14 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 15-24 ปี พบอัตราป่วยสูงสุดในภาคใต้ กรุงเทพมหานคร และภาคกลาง ตามลำดับ

            นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาทางกระทรวงสาธารณสุข โดย         กรมควบคุมโรค ได้เพิ่มกลยุทธ์ เพื่อควบคุมจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกในประเทศ เน้นการรณรงค์ป้องกันก่อนเกิดโรคเพื่อเปลี่ยนความคิดคนไทยให้รู้เท่าทันภัยร้ายของไข้เลือดออก โดยเริ่มต้นจากการดูแลตนเอง อีกทั้งผนึกกำลังภาคีรัฐและเอกชน ชูนวัตกรรมเพื่อสร้างความร่วมมือในการป้องกันการเสียชีวิตจากไข้เลือดออก ซึ่งล่าสุดผนึกกำลังกับหน่วยงานภาคีภาครัฐ ร่วมควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยความร่วมมือของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนในชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะเด็กวัยเรียนที่เป็นกลุ่มป่วยสูงสุด ซึ่งนอกเหนือจากการสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนแล้ว การวินิจฉัยที่รวดเร็วยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ชุดตรวจโรคไข้เลือดออกชนิดรวดเร็ว (Dengue Rapid Diagnosis Test) ทำให้สามารถวินิจฉัยผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกได้เร็วมากขึ้น

            ทั้งนี้ขอให้ประชาชนสังเกตอาการป่วยของตนเองและบุคคลในครอบครัว หากพบมีไข้สูงเฉียบพลัน และสูงลอยมากกว่า 2 วัน ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคไข้เลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยทันที และห้ามซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาในกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟิแนค แอสไพริน รวมถึงยาชุดแก้ปวด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในช่องทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต พร้อมทั้งป้องกันตนเองและบุคคลในครอบครัวจากการถูกยุงกัด เช่น ทายากันยุงหรือนอนในมุ้ง กำจัดแหล่งวางไข่ยุงลายภายในบ้านและบริเวณรอบๆ บ้าน โดยขอให้ยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ เก็บบ้านให้สะอาด เป็นระเบียบไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง เก็บน้ำ โดยปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์พร้อมทั้งขัดขอบภาชนะเพื่อกำจัดไข่ยุงลาย และเก็บขยะ บริเวณรอบบ้าน พร้อมทั้งปรับปรุงสภาพแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งวางไข่ยุงลาย ซึ่งทั้งหมดนี้จะสามารถป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลายได้ทั้ง 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

 

*************************************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อนำโดยแมลง/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 5 กรกฎาคม 2566

 

 



   
   


View 2232    05/07/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ