ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 14 View
- อ่านต่อ
คณะอนุกรรมการระบบบำบัด ฟื้นฟู ติดตามผู้ติดยาเสพติด เผยความคืบหน้าการดำเนินงานไตรมาสที่ 3 จัดตั้งหน่วยบริการศูนย์คัดกรองแล้ว 9,826 แห่ง มีบริการหอผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดใน รพศ./รพท./รพ.สังกัดกรมสุขภาพจิต 5,617 แห่ง และจัดตั้ง “มินิธัญญารักษ์” ในโรงพยาบาล 25 จังหวัด 40 แห่ง พร้อมเห็นชอบใช้ (ร่าง) คู่มือแนวทางการปฏิบัติงานสำหรับสถานฟื้นฟูสมรรถภาพภาคีเครือข่าย เป็นแนวทางสำหรับดำเนินงานในปีงบฯ 2567
วันนี้ (25 กรกฎาคม 2566) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการระบบบำบัด ฟื้นฟู ติดตามผู้ติดยาเสพติด ครั้งที่ 3/2566 โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองทัพไทย กองทัพบก กองทัพอากาศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมคุมประพฤติ กรมราชทัณฑ์ เข้าร่วมประชุม
นพ.โอภาส กล่าวว่า ที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานในการเปิดปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามนโยบายรัฐบาล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไตรมาสที่ 3 ซึ่งมีการขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนด้านบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด 8 ประเด็น โดยจัดตั้งหน่วยบริการศูนย์คัดกรอง 9,826 แห่ง แบ่งเป็น สังกัด สธ. 6,615 แห่ง อปท. 3,184 แห่ง สถานพยาบาลยาเสพติด 1,078 แห่ง บูรณาการโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (CBTx) ครอบคลุมทุกตำบล 8,687 ชุมชน จัดบริการหอผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ครอบคลุมทุกจังหวัด และโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต รวม 5,617 แห่ง จัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชนแล้ว 439 แห่ง
นอกจากนี้ ยังจัดตั้ง “มินิธัญญารักษ์” ในโรงพยาบาล โดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด และกรมการแพทย์ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงและลดความแออัดสำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพระยะยาวในโรงพยาบาลเฉพาะทาง รองรับผู้ป่วยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ดำเนินการแล้ว 40 แห่ง ใน 25 จังหวัด ขึ้นทะเบียนศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม 3,132 แห่ง สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดทุกจังหวัด 140 แห่ง พร้อมทั้งสร้างมาตรการควบคุม ป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และพัฒนาระบบข้อมูลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของประเทศ
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่าที่ประชุมยังได้เห็นชอบใน 2 ประเด็น คือ 1) (ร่าง) คู่มือแนวทางการปฏิบัติงานสำหรับสถานฟื้นฟูสมรรถภาพภาคีเครือข่าย เพื่อใช้เป็นแนวทางดำเนินงานในปีงบประมาณ 2567 โดยมอบฝ่ายเลขานุการ เพิ่มข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 2) การพัฒนานักจัดการระบบในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด (System Manager : SM & Case Manager : CM) ภายใต้คณะทำงานบูรณาการคัดกรอง บำบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และฟื้นฟูสภาพทางสังคมระดับจังหวัด โดยจะมีการขึ้นทะเบียนผู้ที่ผ่านการอบรมเพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ต่อไป
******************************************* 25 กรกฎาคม 2566