กรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เชิญชวนประชาชน
คนไทย ลด ละ เลิก การดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงวันเข้าพรรษา เพื่อสุขภาพที่ดีของตนเอง

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า  สุรา คือ เครื่องดื่มที่มีเอทิลแอลกอฮอล์
เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อดื่มสุราเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดพิษต่อระบบต่าง ๆ
ของร่างกาย เช่น ผลต่อสมอง ทำให้สมองเสื่อม ความคิด ความจำบกพร่อง การตัดสินใจและการใช้เหตุผลผิดพลาด ผลต่อตับในระยะแรกจะเกิดไขมันสะสมในตับ ต่อมาจะเกิดภาวะตับอักเสบ และภาวะตับแข็งตามมา ผลต่อระบบทางเดินอาหาร
ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบ เลือดออกในกระเพาะอาหาร ซึ่งถ้ามีเลือดออกมากอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ ผลต่อระบบสืบพันธุ์ ทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และยังส่งผลต่อระบบอื่น ๆของร่างกาย
อีกมากมายทำให้เกิดภาวะผิดปกติตามมา เช่น ภูมิคุ้มกันต่ำลง เกลือแร่ในร่างกายขาดความสมดุล โดยพิษของสุรา
แบบเฉียบพลัน ทำให้ผู้ดื่มขาดสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือเกิดการทะเลาะวิวาทได้ง่าย พิษของสุราแบบเรื้อรัง ผู้ดื่มจะหมกมุ่นในการหาสุรามาดื่มตลอดเวลา ทำให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรม ขาดความรับผิดชอบ การทำหน้าที่ในชีวิตบกพร่อง เสียสุขภาพและเสียสัมพันธภาพกับคนในครอบครัวรวมถึงสูญเสียหน้าที่การทำงาน การดื่มสุรานอกจากส่งผลต่อสุขภาพของผู้ดื่มเองแล้วยังส่งผลกระทบต่อสังคมในอีกหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การทะเลาะวิวาท ทำร้ายตนเอง
ทำร้ายผู้อื่น และที่ชัดเจนที่สุด คือ การดื่มแล้วขับขี่ยานพาหนะซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เกิดการบาดเจ็บและอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้การดื่มแล้วขับยังมีความผิดต้องรับโทษและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาประจำปี 2566 นี้ ขอเชิญชวนประชาชนคนไทย ลด ละ เลิก ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพื่อสุขภาพที่ดีของตนเอง ซึ่งการลดปริมาณการดื่มสุราลงจะทำให้ผู้ดื่มมีสุขภาพ
ดีขึ้น  ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ก็ลดลง รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้ดื่มสามารถเลิกดื่มสุราได้ในอนาคต ทั้งนี้ผู้ดื่ม
ไม่ควรหยุดดื่มเองทันที ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายได้ ควรหยุดดื่มภายใต้การดูแลของแพทย์
โดยสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 หรือ เข้ารับการบำบัดรักษาอาการติดสุราได้ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานีและโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง  ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี  ซึ่งการบำบัดรักษาอาการติดสุรา มี 2 รูปแบบ คือ แบบผู้ป่วยนอกและแบบผู้ป่วยใน การบำบัดแบบผู้ป่วยนอกเหมาะสำหรับผู้ติดสุราไม่รุนแรงมาก สามารถรับประทานยาเองและควบคุมการหยุดดื่มได้ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนทางกายหรือทางจิตที่รุนแรง หลังจากบำบัดอาการถอนพิษสุราแล้ว จะได้รับการนัดเข้าร่วมกิจกรรมบำบัด เพื่อส่งเสริมการหยุดดื่มอย่างต่อเนื่อง สำหรับการบำบัดแบบผู้ป่วยใน เหมาะสำหรับผู้ติดสุราที่ไม่สามารถควบคุมการดื่มได้ แพทย์จะบำบัดรักษาอาการถอนพิษสุราและภาวะแทรกซ้อน จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อฟื้นฟูกระบวนการคิด ฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจควบคู่กันไป เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ และเลิกดื่มได้อย่างต่อเนื่อง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th

************************************************

#กรมการแพทย์  #สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี #สบยช. # งดเหล้าเข้าพรรษา

                                                                                       -ขอขอบคุณ-     30  กรกฎาคม   2566



   


View 357    30/07/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ