รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขไทย ประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 13 ที่สหรัฐอเมริกา พร้อมแบ่งปันประสบการณ์นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” พร้อมสนับสนุนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพเพื่อเตรียมความพร้อมและตอบโต้ต่อโรคระบาดและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnerships) ในการแก้ปัญหาที่เกิดจากความเชื่อมโยงระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจ

          เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2566 (ตามเวลาท้องถิ่นเมืองซีแอทเทิล สหรัฐอเมริกา) นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขไทย เข้าร่วมการประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 13 (13th APEC High-Level Meeting on Health and the Economy) ที่ศูนย์การประชุมซีแอตเทิล เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือการเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคระบาดของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยมีรัฐมนตรีสาธารณสุขและผู้แทนระดับสูงจาก 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค และผู้บริหารระดับสูงขององค์การระหว่างประเทศและภาคเอกชน เข้าร่วมกว่า 100 คน

          นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช ในฐานะประธานของการประชุมคณะทำงานด้านสุขภาพของเอเปค (APEC Health Working Group) ได้กล่าวรายงานผลการประชุมคณะทำงานฯ รวมทั้งการนำแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health approach) มาประยุกต์ใช้ในการเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคระบาด อาหารปลอดภัย เชื้อดื้อยาและขยายไปครอบคลุมโรคไม่ติดต่อ เช่น มะเร็ง และภัยจากสิ่งแวดล้อม พร้อมกล่าวถ้อยแถลงแบ่งปันประสบการณ์การทำงานของไทย ในประเด็นเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ทั้งในภาครัฐหรือเอกชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จนพ้นวิกฤตและเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย ภายใน 72 ชั่วโมง เป็นการเกื้อหนุนความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการสุขภาพ

          นอกจากนี้ ยังได้เสนอข้อคิดเห็นต่อการสร้างความยั่งยืนของระบบสุขภาพ โดยเฉพาะด้านการเงินการคลังสุขภาพ เช่น นโยบายการดำเนินงานบริการผู้ป่วยในที่บ้าน (Home ward) รวมทั้งนำเสนอความสำเร็จ ความท้าทายและบทเรียนในการจัดการโควิดของไทย และเสนอให้เอเปคใช้แนวทางการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคมและยกระดับศักยภาพของระบบสาธารณสุขปฐมภูมิให้พร้อมรับมือกับโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกทั้งยังได้กล่าวสนับสนุนต่อแถลงการณ์ของประธานการประชุมระดับสูงฯ (Chair’s Statement) ซึ่งครอบคลุมแนวทางการแก้ปัญหาสาธารณสุขของภูมิภาคเอเชีย -แปซิฟิก โดยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมและตอบโต้ต่อโรคระบาด ซึ่งเป็นหัวข้อหลักของการประชุมครั้งนี้ และสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnerships) ในการแก้ปัญหาที่เกิดจากความเชื่อมโยงระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจด้วย

          ในโอกาสนี้ นพ.ณรงค์ได้ร่วมประชุมคู่ขนาน เรื่อง “ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” โดยเสนอให้สมาชิกเอเปคร่วมมือกับภาคเอกชนให้มากขึ้น ใช้จุดแข็งของภาคเอกชน อาทิ ด้านทรัพยากรและความเชี่ยวชาญในการผลิตนวัตกรรม มาพัฒนาระบบสุขภาพของสมาชิกเอเปคให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น และผู้แทน Asia Pacific Health Coalition ได้เข้าพบ เพื่อหารือประเด็นสาธารณสุขที่ไทยให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพและการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพ ซึ่งได้เชิญชวนผู้แทนฯ ลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (East Economic Corridor :EEC) ของไทยด้วย

          สำหรับการประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ จัดขึ้นเป็นประจำปีละ 1 ครั้ง ในเดือนสิงหาคม ระหว่างการประชุมของเจ้าหน้าที่อาวุโสในช่วงที่ 3 ซึ่งในปี พ.ศ. 2566 สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 13

 ************************************************ 7 สิงหาคม 2566



   
   


View 470    07/08/2566   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ