ศูนย์วิทย์ฯ ที่ 8 อุดรธานี พัฒนาศักยภาพห้องแล็บตรวจยีน BRCA1/BRCA2 สาเหตุโรคมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการตรวจด้วยเทคโนโลยีใหม่ ช่วยลดระยะเวลาการรอคอย ลดการส่งต่อสามารถรองรับการตรวจตัวอย่างจากโรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 8 พื้นที่ใกล้เคียง และกลุ่มประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

 


วันนี้ (11 สิงหาคม 2566) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี จัดประชุมการประชาสัมพันธ์การให้บริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ด้วยเทคโนโลยี Next-Generation Sequencing (NGS) สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมและญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัว ตรวจพบยีนกลายพันธุ์ เพื่อสื่อสารแนวทางการเก็บและส่งตัวอย่าง การวินิจฉัยผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในเขตสุขภาพที่ 8 และพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงการสร้างเครือข่ายในการตรวจหาสารพันธุกรรมด้วยเทคโนโลยี NGS โดยมี นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายแพทย์ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายแพทย์จรัญ จันทมัตตุการ สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 8 เรืออากาศเอก นายแพทย์สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี ทันตแพทย์กวี วีระเศรษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 8 นายแพทย์พูลสวัสดิ์ วงศ์วิชิต ประธานคณะทำงานพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขาโรคมะเร็ง นางสาวอรทัย สุพรรณ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี และมีบุคลากรทางการแพทย์จากเขตสุขภาพที่ 8 โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 8 โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี เข้าร่วม ณ ห้องประชุมบ้านเชียง ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี

 


นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า โรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเพศหญิง ประเทศไทยมะเร็งเต้านม มีอุบัติการณ์การเกิดมากที่สุด ส่วนโรคมะเร็งรังไข่พบได้เป็นอันดับ 7 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยกลุ่มผู้ที่มีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1/BRCA2 จะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมสูงถึงร้อยละ 80 และมะเร็งรังไข่ร้อยละ 15-40 ที่ผ่านมาการตรวจยีน ทั้งสองนี้มีอุปสรรคสำคัญคือมีราคาค่าตรวจแพง ทำให้การตรวจยีนดังกล่าวจำกัดอยู่เฉพาะในโครงการวิจัยเท่านั้น แต่ในปัจจุบันการตรวจดังกล่าวมีต้นทุนที่ถูกลง เนื่องจากความก้าวหน้าทางการแพทย์ของประเทศไทย ด้านพันธุศาสตร์มนุษย์และเทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรมสมรรถนะสูง เมื่อนำข้อมูลพันธุกรรมหรือข้อมูลดีเอ็นเอของผู้ป่วยมาใช้ในการวินิจฉัย ป้องกัน รักษา ทำให้การแพทย์มีความแม่นยำและจำเพาะต่อบุคคลมากขึ้น






กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมการแพทย์ ได้ร่วมกันพัฒนาเครือข่ายการแพทย์แม่นยำ ด้านโรคหายาก และโรคมะเร็งที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1/BRCA2 หากตรวจพบยีนชนิดนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาและออกแบบวิธีรักษาแบบกำหนดเป้าหมายเฉพาะบุคคล หรือการเลือกใช้ยาที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างตรงจุด ทำให้อัตราการรอดและหายจากโรคสูงขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้อีกด้วย นอกจากนี้แล้วญาติสายตรง ซึ่ง ได้แก่ พ่อ แม่ พี่ น้อง หรือบุตรของผู้ป่วย จะได้รับการติดตามให้มาตรวจคัดกรอง เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการเกิดโรค ทั้งนี้ สปสช.ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์บริการตรวจคัดกรองค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2 ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือกองทุนบัตรทอง 30 บาทแล้ว ทำให้ประชาชนไทยสามารถเข้าถึงการตรวจโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ และช่วยลดความเสี่ยงในการป่วยและเสียชีวิตจากโรคร้าย
 


นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี เป็นห้องปฏิบัติการหลักที่ให้บริการตรวจด้วยเทคนิค อณูชีวโมเลกุล ถือเป็นศูนย์แรกที่ให้บริการในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 8 ได้พัฒนาศักยภาพมาตรฐานห้องปฏิบัติการ สามารถเปิดให้บริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ด้วยเทคโนโลยี NGS สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม และญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัว ตรวจพบยีนกลายพันธุ์ เพื่อช่วยลดระยะเวลาการรอคอย ลดการส่งต่อ โดยเป็นห้องปฏิบัติการที่มีศักยภาพ สามารถรองรับการตรวจตัวอย่างจากโรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 8 จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู เลย บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม พื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงสามารถรองรับชาวต่างชาติจากกลุ่มประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยห้องปฏิบัติการนี้สามารถตรวจได้สูงสุดถึง 128 ตัวอย่างต่อเดือน ร่วมกับการประมวลผลขั้นสูงทางคอมพิวเตอร์ (Bioinformatics) เข้ามาช่วยวินิจฉัยโรคให้เกิดความถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น และเชื่อมข้อมูลระบบรายงานผล ทำให้รายงานผลได้ภายใน 20 วันทำการ การดำเนินงานนี้นับเป็นส่วนหนึ่งของการใช้เทคโนโลยีถอดรหัสพันธุกรรม และองค์ความรู้ทางพันธุศาสตร์มนุษย์ เพื่อยกระดับให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศมีมาตรฐานที่สูงขึ้น
 




       “ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีห้องปฏิบัติการเครือข่ายที่ให้บริการตรวจทางเวชศาสตร์จีโนม การตรวจยีน BRCA1/BRCA2 สำหรับโรคมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี บริษัทแอท-ยีนส์ จำกัด บริษัท ไบโอ โมเลกุลลาร์ แลบบอราทอรี่ส์ (ประเทศไทย) จำกัด คลินิกเทคนิคการแพทย์แบงคอกจีโนมิกส์ และบริษัท  ศูนย์พันธุศาสตร์การแพทย์ จำกัด” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว

************** 11 สิงหาคม 2566



   
   


View 329    11/08/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ