อย. ร่วม สสจ.นครปฐม และตำรวจ จับร้านยาลอบขายวัตถุออกฤทธิ์ เตือนโทษหนักทั้งปรับและจำคุก
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- 30 View
- อ่านต่อ
อธิบดีกรมควบคุมโรค นำทีมกองกฎหมายเดินหน้ารับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เสริมประสิทธิภาพกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ เตรียมพร้อมรับมือโรคติดต่อทั้งสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข
เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานพิธีปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น โฮเทล อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี พร้อมด้วยนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และให้เกียรติขึ้นบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ความสำคัญของกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อกับการป้องกันควบคุมโรคติดต่อของประเทศไทยและนานาชาติ” โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานด้านโรคติดต่อในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด และหน่วยงานในสังกัดกรมควบคุมโรคทุกหน่วยงาน รวมถึงด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศทั้ง 69 ด่าน
พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2559 เป็นต้นมา ซึ่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายสำคัญ และเป็นกฎหมายหลักที่ต้องนำมาใช้ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อของประเทศ อย่างไรก็ดีจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวที่ผ่านมาทำให้พบว่า มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมในการนำมาใช้บังคับกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อ ทั้งโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำที่มีความรุนแรงและมีการแพร่อย่างรวดเร็วและกว้างขวางจนเป็นอันตรายต่อชีวิตและมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างรุนแรง
กรมควบคุมโรค จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการทบทวนและแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อกำหนดมาตรการทางกฎหมายที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ระงับ ควบคุม และขจัดโรคติดต่อที่มีการระบาด ทั้งในกรณีปกติและในกรณีอันเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เพื่อให้กฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อมีความทันสมัย สอดคล้อง และเหมาะสมกับสถานการณ์ของโรค โดยการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อกรมควบคุมโรคจะได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี และดำเนินการตามกระบวนการ นิติบัญญัติต่อไป
**************************************
ข้อมูลจาก : กองกองกฎหมาย/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 12 สิงหาคม 2566