วันนี้ (15 สิงหาคม 2566) ที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในการแถลงข่าวอาหารสุขภาพพระสงฆ์ ภายใต้โครงการบุญแห่งทาน อาหารแห่งศรัทธา เฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังยปริณายก ในวาระโอกาสฉลองพระชนมายุ 96 พรรษา โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ อาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมทั้งยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการส่งเสริมสุขภาพพระภิกษุสงฆ์และสามเณร โดยมี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมศาสนา และดร.นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ร่วมงาน

            นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญ และขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพพระสงฆ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีกรมอนามัยดำเนินงานผ่านรูปแบบวัดส่งเสริมสุขภาพ เพื่อให้พระสงฆ์มีความรู้ด้านสุขภาพเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อชุมชนและประชาชนในพื้นที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการเผยแพร่พระธรรม คำสอนสอดแทรกสาระสุขภาพ รวมทั้งดูแลสภาพแวดล้อมภายในวัดและชุมชนให้สะอาด ปลอดภัย ทั้งนี้ จากการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพพระสงฆ์ ปี 2565 จำนวน 18,496 รูป พบว่า พระสงฆ์มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ เพียงร้อยละ 25.58  และข้อมูลของโรงพยาบาลสงฆ์ ในปี 2563 พบว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคของพระสงฆ์ คือ ไขมันในเลือดสูง ดัชนีมวลกายเกินมาตรฐาน สูบบุหรี่ น้ำตาลในเลือดสูง และความดันโลหิตสูง โรคที่พระสงฆ์อาพาธมากที่สุด คือ โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน ไข้หวัดตามฤดูกาล และโรคเหงือกอักเสบและปริทันต์ สำหรับสาเหตุการมรณภาพส่วนใหญ่ คือ โรคมะเร็งโรคปอดบวม โรคหัวใจและหลอดเลือด

            ทางด้าน ดร.นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับด้านโภชนาการในพระสงฆ์พบว่าอาหารที่ประชาชนนิยมนำไปตักบาตรจะประกอบด้วยแป้ง น้ำตาล ไขมัน และกะทิที่ให้พลังงานสูง เนื่องจากพระสงฆ์ไม่สามารถเลือกฉันอาหารเองได้ ต้องฉันอาหารตามที่ฆราวาสตักบาตร ส่งผลให้เกิดไขมันสะสม ประกอบกับสถานภาพพระสงฆ์ไม่เอื้อต่อการออกกำลังกายทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้น ดังนั้น ประชาชนควรคำนึงถึงสุขภาพพระสงฆ์ ด้วยการเลือกเมนูชูสุขภาพในการตักบาตร เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการ อาหารครบ 5 หมู่ มีความหลากหลาย เลือกอาหารลดหวาน มัน เค็ม เลือกข้าว แป้งที่ผ่านการขัดสีน้อย เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต อาหารประเภท ปลา เต้าหู้ ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และถั่วเมล็ดแห้ง เลี่ยงเมนูอาหารกะทิ และอาหารทอด เปลี่ยนเป็นอาหารประเภทต้ม นึ่ง ยำ อบ ลวก น้ำพริก เพิ่มผักผลไม้หลากหลายชนิดและสี ตามฤดูกาล นมจืด นมพร่องมันเนย โยเกิร์ตรสธรรมชาติ น้ำเปล่า และน้ำปานะหวานน้อย หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม ชาหรือกาแฟสำเร็จรูป เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลสูง

           “สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงสาธารณสุขจะได้ร่วมกันดูแลสุขภาพพระสงฆ์ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น นอกจากนี้ ภายในงานยังได้มีการสาธิตเมนูชูสุขภาพ 5 เมนู ได้แก่ ไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ธัญพืช ยำถั่วพู แกงส้มผักรวม ปลานึ่งแจ่ว และเต้าหู้พะโล้ รวมทั้งนิทรรศการการส่งเสริมสุขภาพจากภาคีเครือข่าย โดยมีสำนักโภชนาการ กรมอนามัย จัดนิทรรศการ เรื่อง ตักบาตรอย่างไรพระสงฆ์สุขภาพดีอีกด้วย” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว  

***

กรมอนามัย / 15 สิงหาคม 2566



   
   


View 401    15/08/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ