อย. ร่วม สสจ.นครปฐม และตำรวจ จับร้านยาลอบขายวัตถุออกฤทธิ์ เตือนโทษหนักทั้งปรับและจำคุก
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- 30 View
- อ่านต่อ
สธ.มอบรางวัลตำบลและอำเภอต้นแบบการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกระดับจังหวัด เผยปี 2567 เตรียมขยายการดำเนินงานสู่ระดับเขตสุขภาพ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นได้ ตั้งเป้าหญิงไทยตรวจคัดกรอง 100% รู้เร็ว รักษาได้ ลดเสียชีวิต ช่วยให้ประเทศลดค่าใช้จ่ายในการดูแลและรักษาพยาบาล
วันนี้ (4 กันยายน 2566) ที่ห้องประชุมหลวงปู่ศุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยนาท นายแพทย์บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมนำเสนอ Best Practice ถอดบทเรียน ปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะ เพื่อการพัฒนาโครงการพัฒนาต้นแบบลดการเกิดมะเร็งปากมดลูกแบบบูรณาการระดับจังหวัด พร้อมทั้งมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะการประกวด Best Practice ระดับตำบล ระดับอำเภอ และมอบประกาศนียบัตรสำหรับผู้นำเสนอผลงาน โดยมี นายแพทย์พัลลภ ยอดศิรจินดา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยนาท เทคนิคการแพทย์หญิงจินตนา ว่องวิไลรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ นายแพทย์เอกรินทร์ อุ่นอบ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 3 นครสวรรค์ ผู้บริหารหน่วยงานในเขตสุขภาพที่ 3 แพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ(สสอ.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุข ประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท และพื้นที่ใกล้เคียง เข้าร่วมประชุม
นายแพทย์บัลลังก์ กล่าวว่า โรคมะเร็งปากมดลูก มีอัตราการป่วยเป็นอันดับที่ 2 ในผู้หญิงรองจากโรคมะเร็งเต้านม แต่มีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับที่ 1 มีผู้ป่วยรายใหม่ราว 10,000 รายต่อปี และมีผู้เสียชีวิตจากโรค 52% หรือวันละ 14 ราย จึงนับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ ในเขตสุขภาพที่ 3 จากการนำร่องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี HPV DNA Test สายพันธุ์เสี่ยงสูง 14 สายพันธุ์ ได้แก่ 16, 18, 31, 33, 35, 39, 45, 51, 52, 56, 58, 59, 66 และ 68 ปี 2565 จำนวน 13,309 ตัวอย่าง พบผู้ติดเชื้อ HPV ร้อยละ 8.5 โดยพบสายพันธุ์ 16, 18 ร้อยละ 17.1 และพบสายพันธุ์อื่นๆ ร้อยละ 62.2 นอกจากนั้นเป็นการติดเชื้อร่วมหลายสายพันธุ์อีกร้อยละ 20.7 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด ซึ่งบางสายพันธุ์วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกยังไม่ครอบคลุม หากมีการรวบรวมเป็น Big Data ของประเทศ จะเป็นประโยชน์ในการนำไปวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกของไทยเอง ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลัง มีการพัฒนาฐานข้อมูลระบบข้อมูลสุขภาพของประเทศ จึงจะมีการนำข้อมูลดังกล่าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของฐานข้อมูลระบบสุขภาพด้วย โดยมีเป้าหมายให้สตรีไทยที่มีอายุตั้งแต่ 30-60 ปี เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ครอบคลุม 100 %
ในเดือนมกราคม พ.ศ.2566 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยนาท และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ รวมถึงภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้ร่วมกันดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบลดการเกิดมะเร็งปากมดลูกแบบบูรณาการระดับจังหวัด เพื่อให้สตรีชาวชัยนาท เข้าสู่การตรวจคัดกรอง วินิจฉัยและรักษาที่มีประสิทธิภาพ ลดการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก ช่วยให้ประเทศลดการสูญเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลและรักษาพยาบาล เกิดเป็นต้นแบบการดำเนินงานด้านตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกระดับจังหวัด และสามารถนำไปขยายผลให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่อื่นๆ โดยการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเอง (HPV Self-Sampling) นับเป็นการเพิ่มทางเลือกในการเข้าถึงบริการ วิธีการตรวจมีความแม่นยำสูงกว่าวิธีการตรวจคัดกรองแบบเดิม ช่วยแก้ไขปัญหา ความเขินอาย ประชาชนสามารถเข้าถึงชุดเก็บตัวอย่างได้ง่ายยิ่งขึ้น และสตรีไทยที่มีอายุตั้งแต่ 30-60 ปี สามารถเข้ารับการตรวจได้ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านฟรี โดยมีศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ ให้การสนับสนุนชุดอุปกรณ์เก็บสิ่งส่งตรวจจากช่องคลอดด้วยตนเอง จัดระบบโลจิสติกส์รับและตรวจวิเคราะห์ตัวอย่าง ส่งคืนข้อมูลผลการตรวจผ่านโปรแกรม HPV screening และส่งข้อมูลให้กับสูตินรีแพทย์ เพื่อติดตามการตรวจด้วยกล้อง Colposcopy จัดทำชุดความรู้ร่วมกับสูตินรีแพทย์จาก รพ.ชัยนาทนเรนทร และ สสจ.ชัยนาท นอกจากนี้ยังได้อบรมให้ความรู้ อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน จำนวน 370 คน เพื่อลงพื้นที่ให้ความรู้สตรีกลุ่มเป้าหมายในการเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง โดยมีเจ้าหน้าที่ รพช. สสอ. และ รพ.สต. เป็นพี่เลี้ยง และเป็นแกนนำของหน่วยบริการ เก็บตัวอย่าง บันทึกข้อมูลส่งตัวอย่าง มีการดำเนินการในแต่ละเครือข่ายหน่วยบริการสุขภาพ (CUP) ซึ่งผลการดำเนินงาน พบว่า จังหวัดชัยนาทสามารถคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในระบบคลังข้อมูลสุขภาพ Health Data Center (HDC) เป็นอันดับ 1 ของประเทศ
เทคนิคการแพทย์หญิงจินตนา กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ ซึ่งเป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวินิจฉัยสุขภาพแม่และเด็ก รับผิดชอบพื้นที่เขตสุขภาพที่ 3 ครอบคลุม 5 จังหวัด ประกอบด้วย นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี กำแพงเพชร และชัยนาท เป็นหน่วยตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี HPV DNA ระบุสายพันธุ์เสี่ยงสูง 14 สายพันธุ์ แทนการตรวจแปปสเมียร์ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพคนไทย ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยนาท ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา แต่ดำเนินการได้เพียงร้อยละ 52.70 และในปี 2565 ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 28.97 แต่จากความร่วมมืออย่างเข้มแข็งทุกภาคส่วน รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนในเรื่องการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก ในปี 2566 ทำให้เป้าหมายในจังหวัดชัยนาทได้รับการตรวจคัดกรองมากถึงร้อยละ 180.3 ซึ่งมะเร็งปากมดลูกเป็นหนึ่งในมะเร็งที่สามารถป้องกันได้โดยเข้ารับวัคซีน การปฏิบัติตน ลดความเสี่ยงของการเกิดโรค รวมถึงเข้ารับการตรวจคัดกรอง HPV DNA ซึ่งหากตรวจพบโรคในระยะเริ่มแรกจะทำให้การรักษาได้ผลดีมีโอกาสหายขาดจากโรคได้ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ มุ่งมั่น สร้างความร่วมมือ เพื่อให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ และได้รับการบริการตามสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อย่างครอบคลุมทั่วถึง เท่าเทียม เสมอภาค
สำหรับการประชุมในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันถอดบทเรียน ปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะ เพื่อการพัฒนาโครงการฯ นำไปสู่การจัดทำ “คู่มือการสร้างจังหวัดต้นแบบลดการเกิดมะเร็งปากมดลูกแบบบูรณาการ” ขยายสู่การดำเนินงานในระดับเขตสุขภาพ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 และมีการบรรยายความรู้วิชาการ การนำเสนอ วิพากษ์ และการประกวดผลงาน Best Practice ต้นแบบการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก จากผู้เข้าร่วมนำเสนอผลงานและผู้รับผิดชอบงาน ระดับตำบล 8 แห่ง และระดับอำเภอ 8 แห่ง โดยมีคณะวิทยากรผู้วิพากษ์และตัดสินผลงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุทัยธานี ศูนย์พัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานภาคเหนือ จังหวัดนครสวรรค์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์
“ผลการตัดสินของคณะกรรมการฯ โดยผู้ที่ชนะการประกวด Best Practice ระดับตำบล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ รพ.สต.ศิลาดาน อสม.นักวิทย์ พิชิตมะเร็งปากมดลูก ตำบลศิลาดาน โดยนางรักษิกานต์ กล่ำรักษ์ และคณะ , รองชนะเลิศ อันดับ 1 รพ.สต.เขาแก้ว สื่อสัมพันธ์ประสานใจป้องกันภัยมะเร็งปากมดลูก โดยนางสาวพรทิพย์ คล้ายจันทร์ และ รองชนะเลิศ อันดับ 2 รพ.สต.บ้านหนองแค การพัฒนารูปแบบการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในพื้นที่ ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองแค ตำบลนางลือ อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ปีงบประมาณ 2566 โดยนางกานต์ณิพิชญ์ ปัญญธนชัยกุล
และระดับอำเภอ ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ สสอ.มโนรมย์ ภาคีเครือข่ายต้านมะเร็งปากมดลูกอำเภอมโนรมย์ โดยนายวินัย อินมณี, รองชนะเลิศ อันดับ 1 สสอ.สรรพยา การดําเนินงานคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอําเภอสรรพยา โดยนางสาวพรวดี มะหิงษา และรองชนะเลิศ อันดับ 2 รพ.หนองมะโมง การพัฒนารูปแบบการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV Self Sampling โดยการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครสาธารณสุข ของอำเภอหนองมะโมง จ.ชัยนาท โดยนางธันย์สิตา ยอดอ่อน และนางสาวโฉมนภา ฉวีวรรณ์ ” เทคนิคการแพทย์หญิงจินตนา กล่าว