ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 25 View
- อ่านต่อ
ชาวสาธารณสุขร่วมแสดงความยินดีกับ 5 นักการสาธารณสุขดีเด่นแห่งชาติ ในเวทีการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2566
รศ.ดร.นายแพทย์ธวัชชัย กมลธรรม เลขาธิการมูลนิธิสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมพิธีเปิดการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2566 ณ ศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้า มณฑาทิพย์ ฮอลล์ จังหวัดอุดรธานีว่า มูลนิธิสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2510 มีวัตถุประสงค์ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้ทรงเสียสละและอุทิศพระองค์ พัฒนาวงการแพทย์และการสาธารณสุขของไทย จนเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน โดยมีประธานมูลนิธิฯ คนแรกคือ พระบำราศนราดูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในสมัยนั้น และปัจจุบันมี ศาสตราจารย์เกียรติยศ นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ เป็นประธานมูลนิธิฯ
นอกจากการส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านวิชาการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแล้ว มูลนิธิฯ ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จัดทำโครงการรางวัลชัยนาทนเรนทรขึ้น เพื่อค้นหา คัดเลือก คนดี คนเก่ง คนที่สร้างสุขแก่สาธารณชน ผู้เสียสละ อุทิศตน สร้างสาธารณประโยชน์ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข มาเป็นนักการสาธารณสุขดีเด่น แต่ละประเภท ทั้ง 5 ด้าน คือ บริหาร บริการ วิชาการ ผู้นำชุมชนและภาคประชาชน โดยในปีนี้มีผู้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักการสาธารณสุขดีเด่นแต่ละประเภท ดังนี้
1. ประเภทบริหาร ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรีและประธานคณะกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ถือเป็นองคมนตรีและปูชนียแพทย์ของประเทศไทย ผู้บริหาร การศึกษา การแพทย์ การสาธารณสุข โดยใช้ศาสตร์พระราชา เข้าใจเข้าถึงพัฒนาและต่อยอด อันก่อเกิดประโยชน์ให้กับประชาชน บุคลากรทางการแพทย์และการศึกษาทั่วประเทศ
2. ประเภทบริการ นายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค ถือเป็นอายุรแพทย์ ผู้อุทิศตนรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อ และนำไปสู่การค้นคว้าวิจัยและพัฒนางานบริการสู่ระดับสากล
3. ประเภทวิชาการ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิกคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นนักการสาธารณสุขดีเด่น ผู้ศึกษาค้นคว้าวิจัยด้านไวรัสวิทยา ทำให้ลดอัตราป่วยและตาย ในโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
4. ประเภทผู้นำชุมชน นายณัฐพล ทองไหล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเตาปูน อำเภอสองจังหวัดแพร่ ถือเป็นนักการสาธารณสุข ผู้นำความรู้ด้านสาธารณสุข ปรับใช้ในการปฏิบัติงาน ฐานะผู้นำชุมชน บูรณาการงานสาธารณสุข เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน
5. ประเภทประชาชน นายพนม นามผาญ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตำบลแม่กาษา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็น อสม. ที่ประยุกต์ใช้ความรู้ที่พิสูจน์ได้ในเชิงวิทยาศาสตร์ เพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของระบบสุขภาพภายในชุมชน
รศ.ดร. นายแพทย์ธวัชชัย กมลธรรม กล่าวในตอนท้ายว่า อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข และมูลนิธิสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ขอเชิญชวนผู้ที่มีคุณสมบัติ เสนอผลงานเข้ารับการคัดเลือกรางวัลชัยนาทนเรนทร โดยจะมีการพิจารณาจากผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้นำชุมชน อสม. สื่อมวลชน ที่อุทิศตนด้วยความเสียสละ ในการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบสาธารณสุขของประเทศ มีผลงานเชิงประจักษ์ในระดับชาติอย่างน้อย 5 ปี สามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของมูลนิธิฯ http://www.hrhjnf.org/ และเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข https://www.moph.go.th/
*************************************** 12 กันยายน 2566
***************************************