อย. ร่วม สสจ.นครปฐม และตำรวจ จับร้านยาลอบขายวัตถุออกฤทธิ์ เตือนโทษหนักทั้งปรับและจำคุก
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- 30 View
- อ่านต่อ
กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เผยเป็นผลมาจากสมองได้รับความเสียหาย ทำให้มีความผิดปกติในด้านทักษะของการสื่อสารและการใช้ภาษา ไม่สามารถโต้ตอบหรือทำความเข้าใจได้ แนะควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษา
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า อะเฟเซียเป็นกลุ่มอาการทางระบบประสาท ที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียความสามารถของสมองในการสื่อสารด้วยภาษา ผู้ป่วยที่มีอาการอะเฟเซียจะมีความบกพร่อง ในการใช้ภาษา โดยแบ่งกลุ่มอาการออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่ม1.เป็นความผิดปกติด้านการสั่งการด้วยภาษา เช่น พูดไม่ออก สะกดคำผิด เขียนไม่ได้ เขียนไม่เป็นคำ เรียกชื่อสิ่งของไม่ถูก กลุ่ม2.ความผิดปกติด้านความเข้าใจภาษา เช่น ฟังไม่เข้าใจ อ่านไม่เข้าใจ และกลุ่ม3.ผู้ป่วยบางรายมีความผิดปกติทั้งด้านการสั่งการด้วยภาษาและความเข้าใจภาษา ทำให้มีลักษณะเงียบ เฉยเมย ไม่พูด และไม่เข้าใจภาษา อย่างไรก็ตามหากพบอาการแสดงจากภาวะอะเฟเซีย และได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรก จะให้ผลการรักษาดีกว่าการปล่อยอาการไว้ในระยะเวลานาน ควรมาพบแพทย์ประเมินหาสาเหตุ เพื่อการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการอะเฟเซียเกิดจากโรคทางระบบประสาทได้หลายสาเหตุ เช่น การบาดเจ็บที่สมองที่ควบคุมความสามารถด้านภาษา โรคหลอดเลือดสมอง สมองอักเสบ เนื้องอกในระบบประสาท สมองเสื่อม เป็นต้น การวินิจฉัยกลุ่มอาการผู้ป่วยอะเฟเซียต้องทำการซักประวัติอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสาเหตุจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย แนวทางการป้องกันและการรักษา จึงขึ้นกับสาเหตุของโรคที่เป็นด้วย นอกจากรักษาที่สาเหตุแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับการแก้ไขภาวะนี้ด้วยการบำบัดฟื้นฟู การใช้ภาษาและการสื่อสารร่วมด้วย ผู้ป่วยอะเฟเซียที่สามารถฟื้นฟูได้ เช่น อาการอะเฟเซียจากอุบัติเหตุ หรือจากโรคหลอดเลือดสมอง หากอาการไม่รุนแรงมาก สามารถทำการบำบัดให้อาการดีขึ้นหรือทุเลาลงได้ด้วยการทำอรรถบำบัด ฝึกการพูด อย่างไรก็ตามสาเหตุของโรคทางระบบประสาทบางสาเหตุ เช่น สมองเสื่อม ผู้ป่วยที่มีอาการอะเฟเซียจากสมองเสื่อม จะมีอาการถดถอยลง การดูแลรักษาจะเป็นการประคับประคองอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยให้ข้อมูลในการดูแลแก่ญาติหรือคนใกล้ชิด
***************************************
#กรมการแพทย์ #สถาบันประสาทวิทยา #อะเฟเซีย(Aphasia)
-ขอขอบคุณ- 17 ตุลาคม 2566