รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมการดำเนินภารกิจของกรมการแพทย์ เผยมีความพร้อมขับเคลื่อนนโยบาย ยกระดับ 30 บาท พลัส ทั้งเรื่องมะเร็งครบวงจร, มินิธัญญารักษ์, รพ. กทม. 50 เขต 50 รพ. และปริมณฑล, สถานชีวาภิบาล และ เศรษฐกิจสุขภาพ พร้อมเดินหน้า Quick Win ให้เห็นผลใน 100 วันแรก

         วันนี้ (18 ตุลาคม 2566) ที่สถาบันทันตกรรม จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร ตรวจเยี่ยมการดำเนินภารกิจของกรมการแพทย์ พร้อมมอบนโยบายให้กับผู้บริหารและบุคลากร โดยมี แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ และคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ

          นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า กรมการแพทย์ เป็นกรมด้านวิชาการที่มีความพร้อมทั้งในด้านองค์ความรู้ การพัฒนาทางวิชาการด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ที่สำคัญมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญสูง สามารถขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในการยกระดับ 30 บาท ที่มีการกำหนด Quick Win ให้เห็นผลใน 100 วันแรก โดยเฉพาะ 1.มะเร็งครบวงจร โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และโรงพยาบาลมะเร็งส่วนภูมิภาค จะร่วมกับภาคีเครือข่าย ส่งเสริมความรอบรู้ด้านโรคมะเร็งที่พบบ่อยในประเทศไทยให้แก่ประชาชนและผู้ป่วยมะเร็ง, สนับสนุนการฉีดวัคซีน HPV และการวินิจฉัย, คัดกรองมะเร็งตับและท่อน้ำดีในพื้นที่เสี่ยง และจัดอบรม Cancer Warrior ในโรคมะเร็งสำคัญ 5 ชนิด ร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุขด้านมะเร็งครบวงจร

          2.มินิธัญญารักษ์ในทุกจังหวัด โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาค เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการบำบัดรักษาที่มีมาตรฐาน ลดแออัด ลดเวลา ลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งยกระดับโรงพยาบาลชุมชนให้เป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายด้านยาเสพติดในระดับจังหวัด 3.จัดตั้งโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร 50 เขต 50 โรงพยาบาล และปริมณฑล เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชน นำร่องที่เขตดอนเมือง โดยยกระดับหน่วยบริการปฐมภูมิให้เป็นโรงพยาบาลผู้ป่วยนอกเฉพาะทาง ร่วมขับเคลื่อนโรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) ให้เป็นโรงพยาบาลทุติยภูมิ ขนาด 120 เตียงขึ้นไป ประจำเขตดอนเมือง พร้อมทั้งพัฒนาระบบส่งต่อรักษา โดยมีโรงพยาบาลราชวิถี 2 เป็นหน่วยรับส่งต่อผู้ป่วยเพิ่มเติม จากเดิมมีโรงพยาบาลภูมิพล และโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ รองรับ ส่วนการเข้าถึงบริการของประชาชนในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ จะร่วมจัดบริการกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และโรงพยาบาลนครพิงค์ ในการดูแลรักษาประชาชน

          4.สถานชีวาภิบาล ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีจนวาระสุดท้าย โดยเปิดกุฏิชีวาภิบาล เขตสุขภาพละ 1 แห่ง ใน 4 เขตสุขภาพ มีพระคิลานุปัฏฐากที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการดูแลพระภิกษุอาพาธระยะท้าย ให้การดูแล รวมถึงพัฒนา Home Ward และ 5.เศรษฐกิจสุขภาพ โดยจัดตั้งคลินิก Premium และยกระดับการบริการ “ทันตกรรมเพื่อความสวยงาม” แบบครบวงจร ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการเฉพาะทางมากขึ้น ยังเป็นต้นแบบให้หน่วยงานอื่นโดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจ นำไปพัฒนาบริการการแพทย์เฉพาะทาง เพื่อเป็นหนึ่งในบริการสุขภาพที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจของประเทศด้วย

 ****************************************** 18 ตุลาคม 2566



   
   


View 13122    18/10/2566   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ