กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี  มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความหวังของผู้ป่วย คือ เครื่องโทโมเทอราปี (Tomotherapy)  รุ่นนี้เป็นเครื่องแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ที่รองรับการให้บริการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์  รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวว่า กรมการแพทย์ มีการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุขประเด็นมะเร็งครบวงจร เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาในการดูแลด้านสุขภาพของประชาชนด้านโรคมะเร็ง และ เป็นการสนับสนุน การดูแล รักษาประชาชนในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้เกิดการเข้าถึงการรักษาที่ทันสมัยดยยกระดับระบบบริการทางการแพทย์ที่เป็นเลิศเฉพาะทางแบบองค์รวม มุ่งเน้นการพัฒนาวิชาการ องค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่ได้มาตรฐานระดับสากล ให้เกิดการแพทย์ที่        สมคุณค่า ปัจจุบันโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี กรมการแพทย์ มีเทคโนโลยีด้านการรักษาที่ทันสมัย ในการให้บริการกับประชาชน ที่ทั่วถึง เพิ่มความเท่าเทียมและเชื่อมั่นแก่ภูมิภาค

เรืออากาศเอกสมชาย  ธนะสิทธิชัย  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี  กล่าวว่า โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง รับผิดชอบการให้บริการในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ครอบคลุมเขตสุขภาพที่ 7 และ 8 ปัจจุบัน ได้ดำเนินการตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ประเด็นมะเร็งครบวงจร โดยมีเทคโนโลยี เครื่องฉายแสง โทโมเทอราปี (Tomotherapy) ที่ทันสมัย ซึ่งรุ่นนี้เป็นเครื่องแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วยเพิ่มการเข้าถึงการรักษามะเร็งก้อน เพื่อหวังผลหายขาด ทดแทนการผ่าตัด ในกรณี       ที่ขาดแคลนศัลยแพทย์เฉพาะทาง หรือ สภาพผู้ป่วยไม่พร้อม จะผ่าตัด ตลอดจนรองรับการให้บริการด้านการรักษา ผู้ป่วยมะเร็งในภูมิภาคอินโดจีน และการพัฒนา Medical Hub ในอนาคต

               นายแพทย์ธราธร ตุงคะสมิต นายแพทย์เชี่ยวชาญ หัวหน้ากลุ่มงานรังสีรักษา กล่าวว่า เครื่องฉายแสง       โทโมเทอราปี (Tomotherapy) สามารถเปิดระบบติดตามพิกัดตำแหน่งของก้อนมะเร็ง ที่มีการเคลื่อนไหวระหว่างการรักษาทำให้การฉายรังสีมีความแม่นยำ ทดแทนการผ่าตัดได้ มีผลลัพธ์การรักษาที่ดียิ่งขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ในการฉายรังสีแบบปรับความเข้ม (Intensity Modulated Radiation Therapy : IMRT)  สามารถเข้ารับบริการด้วยเครื่องโทโมเทอราปี ได้ตามสิทธิการรักษาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังได้ทำวิจัยในประเด็น การฉายรังสี SBRT หรือรังสีร่วมพิกัดพร้อมการติดตามการเคลื่อนไหวแบบเรียลไทม์ : ครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Stereotactic body radiation therapy (SBRT) with real-time motion tracking (Synchrony®) and helical kilovoltage image-guided in Radixact system:The first experience in South-East Asia) จากการศึกษาผู้ป่วยมะเร็ง 10 คน พบว่า โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี ประสบความสำเร็จในการรักษาด้วยเทคนิค SBRT ด้วยเครื่องฉายรังสี      โทโมเทอราปี (Tomotherapy) ซึ่งเป็นครั้งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยค่าความคลาดเคลื่อนเฉลี่ยในการกำหนดเป้าหมายอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถยอมรับได้

*************************************************

        #กรมการแพทย์    #โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี   #UDCH    -ขอขอบคุณ- 24 ตุลาคม   2566                                                                                       



   


View 357    24/10/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ