ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด คัดค้านการโอนย้ายบุคลากรจาก 5 หน่วยงานไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่  สสจ. สสอ. รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป รพ.ชุมชน และขอ ก.ก.ถ.ทบทวนแนวทางหรือตีความให้ชัดเจน เหตุไม่ใช่ส่วนงานปฐมภูมิตามเงื่อนไขการกระจายอำนาจ หากให้โอนย้ายจะเกิดปัญหาบุคลากรในระบบบริการระดับทุติยภูมิและตติยภูมิไม่เพียงพอ ส่งผลต่อการดูแลผู้ป่วย 

           วันนี้ (31 ตุลาคม 2566) นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะประธานชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด กล่าวถึงกรณีคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เห็นว่าบุคลากรจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน สามารถถ่ายโอนไปท้องถิ่นได้ ว่า จากการประชุมของชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เห็นตรงกันว่าไม่ควรให้มีการโอนบุคลากรจาก 5 หน่วยงานไปยัง อบจ. และจะมีการออกแถลงการณ์คัดค้านเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมีจุดยืนสนับสนุนการถ่ายโอนภารกิจการจัดบริการปฐมภูมิ ที่เป็นไปตามแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ซึ่งกำหนดขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมิทนราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมุ่งหวังว่าจะส่งผลให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ

         "แต่การถ่ายโอนภารกิจที่ผ่านมา พบว่ามีบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานใน 5 หน่วยงาน แจ้งความจำนงขอถ่ายโอนไปพร้อมกับการถ่ายโอนบุคลากรของ สอน./รพ.สต.ด้วย โดยที่ยังไม่มีการกำหนดขอบเขต หรือวิธีการถ่ายโอนที่ชัดเจนในบุคลากรกลุ่มดังกล่าว ซึ่งนอกจากไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของแผนการกระจายอำนาจฯ แล้ว ยังส่งผลกระทบทั้งการบริหารของหน่วยงานในพื้นที่ และการดูแลประชาชน" นพ.จตุชัยกล่าว 

           นพ.จตุชัยกล่าวอีกว่า การโอนบุคลากรที่ปฏิบัติงานใน 5 หน่วยงาน ทำให้หน่วยงานด้านการบริหาร คือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ขาดบุคลากรที่มีประสบการณ์ในการวิเคราะห์นโยบายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงการควบคุมกำกับการดำเนินงานของหน่วยบริการในพื้นที่ให้เป็นไปตามนโยบายที่สำคัญ ส่วนหน่วยบริการ ตั้งแต่โรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป จะยิ่งซ้ำเติมปัญขาดแคลนบุคลากรในการให้บริการมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยนอกที่มารับบริการตรวจรักษา ตรวจตามนัด ต้องรอคอยนานขึ้นและแออัดมากขึ้นขณะที่ผู้ป่วยในจะขาดบุคลากรที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมาดูแล เช่น ผู้ป่วยหนักใน ICU ผู้ป่วยที่รับการผ่าตัด ต้องรอคิวผ่าตัดนานขึ้น เนื่องจากขาดพยาบาลผู้ช่วยผ่าตัด เป็นต้น ดังนั้น ขอเสนอให้คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ทบทวนแนวทางหรือตีความการโอนบุคลากรที่ปฏิบัติงานใน 5 หน่วยงานดังกล่าว โดยพิจารณาตามหลักการและเหตุผลของกฎหมาย และที่สำคัญ ป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนที่เข้ารับบริการในโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ

******************************* 31 ตุลาคม 2566



   
   


View 16143    31/10/2566   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ