อย. ร่วม สสจ.นครปฐม และตำรวจ จับร้านยาลอบขายวัตถุออกฤทธิ์ เตือนโทษหนักทั้งปรับและจำคุก
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- 30 View
- อ่านต่อ
กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดรับบริจาคนมแม่เข้าสู่ธนาคารนมแม่เพื่อเด็กป่วย และเป็นสื่อกลางที่มีความสำคัญในการจัดสรรนมแม่ที่ได้รับบริจาคมาใช้ให้เกิดประโยชน์และมีความปลอดภัยสูงสุด เพราะนมแม่ถือว่าเป็นสุดยอดอาหารที่มีประโยชน์สำหรับลูก โดยเฉพาะทารกแรกเกิดป่วย ยิ่งต้องได้รับนมแม่
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ใน 1 ปี มีทารกคลอดก่อนกำหนดประมาณ 15 ล้านคน หรือมีทารกเกิดก่อนกำหนดมากกว่า 1 รายต่อการคลอด 10 ราย และทุก ๆ ปี จะมีทารกที่เสียชีวิตจากการคลอดก่อนกำหนด ประมาณ 1 ล้านคน ทารกแรกเกิดป่วยหรือคลอดก่อนกำหนดส่วนใหญ่ไม่ได้รับนมแม่ เนื่องจากมารดามีน้ำนมไม่เพียงพอหรือมารดามีภาวะแทรกซ้อน เจ็บป่วยรุนแรงไม่สามารถให้นมบุตรได้ รวมทั้งทารกต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ภาวะแยกจากระหว่างมารดากับทารกป่วย หากทารกแรกเกิดป่วยหรือคลอดก่อนกำหนดได้รับนมแม่ จะมีประโยชน์ต่อการกระตุ้นฮอร์โมนในลำไส้ น้ำหนักขึ้นเร็ว ลดระยะเวลานอนโรงพยาบาล ลดโอกาสเกิดการติดเชื้อในลำไส้ กระแสเลือด และลำไส้เน่า จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ผู้ป่วยได้รับนมแม่ แต่การที่จะได้รับนมแม่จากการรับบริจาคนั้น จำเป็นต้องมีขั้นตอนการรับนมแม่ที่ปลอดภัยทั้งผู้ให้และผู้รับ ควรปรึกษาแพทย์หรืองานธนาคารนมแม่ก่อนบริจาคทุกครั้ง
นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารนมแม่ สถาาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นสื่อกลางที่มีความสำคัญในการจัดสรรนมแม่ที่ได้รับบริจาคมาใช้ให้เกิดประโยชน์และมีความปลอดภัยสูงสุด โดยขั้นตอนการทำงานของธนาคารนม สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี มีดังนี้ 1. คัดกรองผู้บริจาค 2. ควบคุมช่วงเวลาและอุณหภูมิในการส่งน้ำนม 3. จัดเก็บน้ำนมในอุณหภูมิที่คงที่ 4. พาสเจอร์ไรซ์น้ำนมตามมาตรฐาน 5. จ่ายน้ำนมพาสเจอไรซ์ให้แก่ทารกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งทารกกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับนมแม่บริจาคจากธนาคารนมแม่คือ ทารกคลอดก่อนกำหนดอายุครรภ์น้อยกว่า 32 สัปดาห์ ทารกน้ำหนักน้อยกว่า 1,500 กรัม ทารกที่ได้รับการผ่าตัดลำไส้ ทารกป่วยที่มารดามีข้อห้ามในการให้นมบุตร คุณสมบัติของมารดาที่สามารถบริจาคนมแม่มีดังนี้ สุขภาพแข็งแรง ไม่รับประทานยาหรือฉีดยาที่เป็นข้อห้ามในการให้นมบุตร มีน้ำนมมาก มีผลเลือดปกติ น้ำนมที่จะบริจาคเป็นน้ำนมที่บีบเก็บในช่วงที่บุตรคนล่าสุดอายุไม่เกิน 4 เดือน และไม่หมดอายุการจัดเก็บ ยินดีเจาะเลือด ตอบแบบสอบถามคัดกรองความเสี่ยง นอกจากนั้น มารดาที่มีน้ำนมมากเกินความต้องการไม่ควรแบ่งนมแม่กันเองเนื่องจาก เสี่ยงต่อการติดโรค เช่น HIV ไวรัสตับอักเสบชนิดบี และไวรัสอื่น ๆ ผ่านทางน้ำนม เสี่ยงต่อการรับยาหรือสารเสพติดที่ส่งผ่านทางน้ำนม เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคในระหว่างขั้นตอนการปั๊มนม และการจัดเก็บนม ทั้งนี้ นมแม่จากธนาคารนมแม่ใช้เพื่อเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านชั่วคราว ระหว่างรอนมแม่เท่านั้น “เพราะนมแม่ตัวเองดีที่สุด” หากมารดาท่านใดมีคุณสมบัติข้างต้นและประสงค์ที่จะบริจาคนมแม่สามารถติดต่อมายังธนาคารนมแม่ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ หรือโทร 066-121-7747
**************************************
#กรมการแพทย์ #สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี #ธนาคารนมแม่ #นมแม่
-ขอขอบคุณ-
10 พฤศจิกายน 2566