กรมอนามัยแนะสุขอนามัยสำหรับ ‘คาเฟ่สัตว์เลี้ยง’ ให้ถูกใจเหล่าทาส
- กรมอนามัย
- 18 View
- อ่านต่อ
กรมอนามัย แนะ ลอยกระทงปีนี้ ใช้หลัก 5 วิธี ลดขยะแบบง่าย ๆ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ในคืนวันลอยกระทง
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในทุกๆ ปี เมื่อผ่านคืนวันลอยกระทงสิ่งที่ตามมาคือ ซากกระทงจำนวนมากที่ลอยอยู่ในแม่น้ำลำคลองหลายแห่ง จากสถิติของสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร พบว่า ปริมาณกระทงที่เก็บได้ในปี 2565 เฉพาะในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งหมด 572,602 ใบ แบ่งเป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ต้นกล้วย ใบตอง จำนวน 548,086 ใบ หรือร้อยละ 95.7 และกระทงจากโฟม จำนวน 27,516 ใบ หรือร้อยละ 4.3 แม้ปริมาณกระทงจะเพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 169,399 หรือร้อยละ 42 แต่สัดส่วนของกระทงโฟมลดลง เนื่องจากมีการรณรงค์ให้ประชาชนใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำให้ลอยกระทงจากวัสดุธรรมชาติมากขึ้น อย่างไรก็ตาม กระทงที่ถูกนำมาลอยตามจุดต่างๆ สุดท้ายจะถูกเก็บขนขึ้นมาเพื่อนำไปกำจัดต่อไป โดยทางกรุงเทพมหานครมีการคัดแยกกระทงที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติเข้าโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งเป็นการนำกระทงกลับมาใช้ประโยชน์ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการนำกระทงไปฝังกลบ
“จากผลสำรวจอนามัยโพลของกรมอนามัย วันที่ 24-27 พฤศจิกายน 2566 มีผู้ตอบ 436 คน พบว่า ประชาชนร้อยละ 87 มีการวางแผนไปเที่ยวงานลอยกระทงในค่ำคืนนี้ โดยร้อยละ 43.5 เลือกใช้กระทงที่ทำจากวัสดุย่อยสลายได้ เช่น ใบตอง กาบกล้วย ในขณะที่ร้อยละ 36.41 เลือกใช้การลอยกระทงออนไลน์ และร้อยละ 18.44 ลอยกระทง 1 ใบต่อ 1 ครอบครัว ดังนั้นในวันลอยกระทงนี้ ขอความร่วมมือทุกคน ร่วมใจกันลอยกระทงอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสืบสานประเพณีที่ดีงาม โดยใช้หลัก 5 วิธี ลดขยะแบบง่าย ๆ คือ 1) เลือกใช้วัสดุธรรมชาติ ไม่มีสารก่อมลพิษต่อแหล่งน้ำ เช่น ทำจากต้นกล้วย หยวกกล้วย ใบตอง 2) เลือกใช้วัสดุย่อยสลายได้ไว มีความสร้างสรรค์ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น กระทงน้ำแข็งกระทงโคนไอศกรีม 3) เลือกกระทงขนาดเล็ก ใช้วัสดุน้อย ช่วยลดปริมาณขยะ 4) ลอยกระทงร่วมกัน มากันเป็นครอบครัวๆ ละ 1 ใบ มาเป็นกลุ่มเพื่อน กลุ่มละ 1 ใบ มากับแฟน ลอยกระทงร่วมกัน 1 ใบ เป็นการสานสัมพันธ์ที่ดี ช่วยลดขยะและประหยัดเงิน และ 5) เลือกลอยกระทงออนไลน์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง สำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปลอยนอกสถานที่ หรือไปเดินเที่ยวงานลอยกระทง ทั้งสะดวกปลอดภัย และลดปริมาณขยะแบบแท้จริง” รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าว
รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า แม้ปัจจุบันจะมีการใช้วัสดุธรรมชาติมากขึ้น แต่กระทงทั้งหมด ก็กลายเป็นขยะที่ต้องถูกนำไปกำจัดเสียงบประมาณจำนวนมากเพื่อการจัดการ รวมถึงกระทงที่ทำจากขนมปัง ที่คนให้ความสนใจนำมาลอยมากขึ้น เพื่อให้เป็นอาหารปลา หากมีจำนวนมากเกินไปจะทำให้น้ำเน่าเสียได้ ส่วนกระทงที่ทำจากโฟม เป็นวัสดุที่ย่อยสลายยากในธรรมชาตินานถึง 500 ปี หลายคนเชื่อว่าสะดวกดี ลอยน้ำได้ง่าย แต่อาจไปอุดตันตามท่อ กีดขวางทางน้ำ เป็นขยะที่มีสารพิษและมีส่วนทำให้โลกร้อนได้อีกด้วย ดังนั้น ลอยกระทงปีนี้ ขอให้ประชาชนทุกคนร่วมใส่ใจสิ่งแวดล้อม เลือกกระทงแบบสร้างสรรค์ เลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติที่ย่อยสลายง่าย และลดปริมาณการใช้ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมและรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน
***
กรมอนามัย / 27 พฤศจิกายน 2566