กรม สบส. ชวน อสม.อบรมหลักสูตรการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม เพิ่มศักยภาพในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เอื้อต่อการมีสุขภาพดี

          กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ชวนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมอบรม
E-Learning หลักสูตรการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม เพิ่มศักยภาพ อสม.ในการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วมและบูรณาการ สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการอยู่อาศัย เอื้อต่อการมีสุขภาพดีแก่ประชาชน

          นายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า อนามัยสิ่งแวดล้อม เป็นงานที่มุ่งรักษาคุณภาพ ของสิ่งแวดล้อมให้มีคุณภาพที่เหมาะสม เกื้อกูลต่อการดํารงชีวิตของประชาชน เป็นงานที่ป้องกันประชาชนจากโรคหรือพิษภัยต่างๆ ซึ่งการดำเนินงานอนามัยสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะต้องอาศัยการบูรณาการ กับเครือข่ายทุกระดับ โดยเฉพาะเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่ง กรม สบส.ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถของเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งถือเป็นเครือข่ายที่มีขนาดใหญ่ที่สุด จึงได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ อสม.ที่มีกว่า 1.07 ล้านคนทั่วประเทศ เข้าร่วมอบรมหลักสูตร E – Learning ผ่านระบบ MOOC ANAMAI ของกรมอนามัย ในหลักสูตร “การจัดการสุขภาพชุมชนและอนามัยสิ่งแวดล้อม สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน” โดยสามารถเข้าอบรมได้ทุกที่ ทุกเวลา และเมื่อผ่านการอบรมตามเงื่อนไขของหลักสูตรแล้ว อสม.ก็จะได้รับใบประกาศนียบัตร E-Certificate จากกรมอนามัย ซึ่งจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับ อสม.ในการเป็นต้นแบบพัฒนา จัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม สร้างนวัตกรรมเป็นต้นแบบในการเรียนรู้ระหว่างชุมชน เพื่อสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เอื้อต่อการมีสุขภาพดีแก่ประชาชน

          นายแพทย์สามารถฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า อสม. ถือเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ และภาคประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาองค์ความรู้ในด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ในหลักสูตร “การจัดการสุขภาพชุมชนและอนามัยสิ่งแวดล้อม สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน” ซึ่งมีเนื้อหา 7 บท ประกอบด้วย 1.ความสำคัญของการจัดการสุขภาพชุมชนและอนามัยสิ่งแวดล้อม 2.การจัดการสาธารณภัยในชุมชน 3.การสุขาภิบาลที่พักอาศัย 4.กฎหมายเพื่อการคุ้มครองสิทธิประชาชนด้านสาธารณสุขและอนามัยสิ่งแวดล้อม 5.การสุขาภิบาลอาหารและน้ำ 6.ความรอบรู้ด้านสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม และ 7.การประเมินด้านความเสี่ยงและอนามัยสิ่งแวดล้อม การจัดทำแผนชุมชนและการสื่อสารความเสี่ยง ย่อมช่วยส่งเสริมศักยภาพของ อสม.ให้สามารถสื่อสาร สร้างความตระหนัก และโน้มน้าวให้ชาวชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล รักษาสภาพแวดล้อม จนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอนามัย

*********************** 12 ธันวาคม 2566



   
   


View 174    12/12/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ