ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 14 View
- อ่านต่อ
สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสุขภาพจิต และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพจิตอย่างไร้รอยต่อ บูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐในการระงับเหตุ ดูแลรักษาคนคลุ้มคลั่ง หรือบุคคลที่มีภาวะผิดปกติทางจิตในชุมชน สร้างความปลอดภัยทั้งผู้ป่วยจิตเวช ครอบครัว ชุมชนและผู้ปฏิบัติงาน
วันนี้ (14 ธันวาคม 2566) ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการ ตำรวจแห่งชาติ (สตช.) นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต และ เรืออากาศเอก อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพจิตอย่างไร้รอยต่อ เพื่อระงับเหตุซึ่งเกิดจากคนคลุ้มคลั่ง หรือบุคคลที่มีภาวะผิดปกติทางจิตในชุมชน
นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า ปัจจุบันพบปัญหาบุคคลคลุ้มคลั่งหรือผู้ป่วยจิตเวชที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทำให้ได้รับบาดเจ็บและเกิดความไม่ปลอดภัย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมกับ 3 หน่วยงาน จัดทำบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพจิตอย่างไร้รอยต่อ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.สนับสนุนการระงับเหตุซึ่งเกิดจากคนคลุ้มคลั่งหรือบุคคลที่มีภาวะผิดปกติทางจิตในชุมชน ให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมีความจำเป็นจักต้องระงับเหตุซึ่งหน้า 2.สนับสนุนให้เกิดกลไกการช่วยเหลือและความร่วมมือในการลำเลียงหรือขนส่งผู้ป่วยจิตเวชให้ได้รับบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ดีมีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม 3.สนับสนุนให้เกิดระบบบริการจิตเวชฉุกเฉินอย่างไร้รอยต่อ ให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยตามกระบวนการกระขั้นตอนตามกฎหมาย เกิดความปลอดภัยทั้งผู้ป่วยจิตเวช ครอบครัว ชุมชนและผู้ปฏิบัติงาน และ 4.สนับสนุนการรักษาอาการบาดเจ็บตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับอย่างเหมาะสม
นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 ได้กำหนดไว้ว่า เมื่อพบบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตที่มีภาวะอันตราย หรือมีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา สามารถแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ ผ่านสายด่วนตำรวจ 191 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งความร่วมมือนี้จะเป็นการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การดูแลผู้ที่มีภาวะคลุ้มคลั่ง หรือมีภาวะผิดปกติทางจิตมีความเข็มแข็งยิ่งขึ้น โดยสตช. จะสนับสนุนการคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติให้มีความปลอดภัยทั้งผู้คลุ้มคลั่ง คนรอบข้างและแวดล้อม รวมถึงอำนวยความสะดวกทางจราจร ส่วนสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะให้การรักษาและบริการทางการแพทย์ โดยสนับสนุนบุคลากรด้านจิตเวชและอายุรศาสตร์ให้ครอบคลุมทุกโรงพยาบาลในสังกัด
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้วางระบบดูแลด้านสุขภาพจิตและยาเสพติดตามระดับความรุนแรง โดยผู้ป่วยสีแดง อาการรุนแรง จะได้รับการดูแลในโรงพยาบาล เมื่อดีขึ้นจะจัดเป็นสีส้ม ให้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ ส่วนผู้ป่วยสีเขียว ซึ่งอาการน้อย ให้การดูแลในชุมชน เมื่อดีขึ้นจัดเป็นสีเขียวอ่อน จะได้รับการติดตามอย่างต่อเนื่อง และฟื้นฟูสมรรถนะทางสังคม เพื่อกลับเข้าสู่สังคมได้ตามปกติ โดยขณะนี้ได้จัดตั้ง "มินิธัญญารักษ์" ในโรงพยาบาลแล้ว 76 แห่งใน 46 จังหวัด รวม 1,333 เตียง ส่วนหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด เปิดครบทั้ง 77 จังหวัด รวม 7,796 เตียง แยกเป็น โรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 1,407 เตียง กรมสุขภาพจิต 4,428 เตียง กรมการแพทย์ 1,840 เตียงและในกรุงเทพมหานคร 121 เตียง และยังจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชนครบทั้ง 755 แห่ง
********************************************** 14 ธันวาคม 2566