ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 39 View
- อ่านต่อ
สธ.ประกาศนโยบาย 3 D “Drink Don’t Drive” ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ รณรงค์ตลอดทั้งปี หลังพบสถิติ “ดื่มแล้วขับ” ก่อคดีและอุบัติเหตุสูงสุดในช่วงเทศกาล “หมอชลน่าน” มอบของขวัญแก้ง่วง 3 แสนชิ้น ส่งคนไทยกลับบ้านปลอดภัยในช่วงปีใหม่ ปลัด สธ. สั่งเตรียมความพร้อมศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ ทีมปฏิบัติการฉุกเฉิน (EMS) ของโรงพยาบาลและเครือข่ายภาครัฐและเอกชนทุกระดับ
จากปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาล ทั้งปีใหม่ สงกรานต์ ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา แม้จำนวนการบาดเจ็บและเสียชีวิตอาจลดลงบ้างในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 แต่เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ สถิติการเกิดอุบัติเหตุและตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บก็เริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
วันนี้ (21 ธันวาคม 2566) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานแถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญ 3 D “Drink Don’t Drive” ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ โดยระบุว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 (29 ธันวาคม 2565 – 4 มกราคม 2566) ที่ผ่านมา สถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 7 วันอันตราย มีจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุถึง 2,440 ครั้ง จำนวนผู้บาดเจ็บ 2,437 ราย และ ผู้เสียชีวิต 317 ราย ที่น่าตกใจ คือ ในจำนวนคดีที่เกิดอุบัติเหตุมากกว่า ร้อยละ 96 หรือประมาณ 8,567 คดี เป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา จนถึงเทศกาลสงกรานต์ของปี 2566 ในช่วง 7 วันอันตราย (11-17 เมษายน 2566) ก็เช่นเดียวกัน มีคดีขับรถขณะเมาสุรามากถึง 8,575 คดี คิดเป็นร้อยละ 96.69 ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงและอันตรายมาก
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 3 ปีที่ผ่านมา (2564-2566) มีผู้บาดเจ็บเข้าโรงพยาบาล เฉลี่ยปีละ 25,799 ราย เฉลี่ยวันละ 3,685 ราย และคาดการณ์ว่าปีใหม่ปีนี้จะมีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น โอกาสเกิดอุบัติเหตุก็เพิ่มมากขึ้นด้วย ดังนั้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ต่อเนื่องไปตลอดทั้งปีนับจากนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายรณรงค์ลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับขี่ยานพาหนะต่างๆ ลงให้ได้มากที่สุด เพื่อลดความสูญเสียบนท้องถนน โดยกำหนดแคมเปญ 3 D คือ “Drink Don’t Drive” ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ร่วมกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น พฤติกรรมของผู้ขับขี่เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุที่ป้องกันได้ อาทิ การขับรถด้วยความเร็วไม่เหมาะสม การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย ทั้งหมวกนิรภัย หรือเข็มขัดนิรภัย เป็นต้น และเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รักษาผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินได้อย่างเต็มที่ ขอให้ประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดอุบัติเหตุตามนโยบาย “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” ไปด้วยกัน
“การดื่มแล้วขับเป็นปัญหาในทุกเทศกาล ในปีนี้จึงเน้นย้ำให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด ทำงานเชิงรุก โดยช่วงก่อนเทศกาลให้มีการออกตรวจเตือนและประชาสัมพันธ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลให้บังคับใช้กฎหมายทั่วประเทศอย่างจริงจัง หากพบว่ามีการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี, ขายสุราในสถานที่และเวลาห้ามขาย ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ประสานความร่วมมือและลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ยังมอบหมายให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม. ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ตั้งด่านชุมชน ด่านครอบครัว ร่วมกันสกัดกั้นกลุ่มเสี่ยงอุบัติเหตุ ประเมินสภาวะมึนเมา หากพบว่ามีการดื่ม หรือมีอาการมึนเมา ให้พักคอยจนกว่าจะอยู่ในสภาวะปกติก่อน เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ” นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยประชาชนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือเดินทางท่องเที่ยวให้มีความปลอดภัย ปลอดจากอุบัติเหตุ จึงขอความร่วมมือทุกคน งดเว้นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับขี่โดยเด็ดขาด และในปีนี้ยังได้เตรียมถุงของขวัญที่บรรจุ ยาอม ยาดม ยาหม่อง ที่จะช่วยแก้อาการง่วงนอนในขณะขับรถ จำนวน 3 แสนชิ้น เพื่อมอบให้กับผู้เดินทาง เช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นๆ ที่มีบริการน้ำดื่ม ผ้าเย็น ฯลฯ บริเวณด่านตรวจคัดกรองการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดเส้นทางทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกคนได้กลับบ้านสู่อ้อมกอดของครอบครัวอย่างปลอดภัย
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ได้สั่งการให้หน่วยงานและโรงพยาบาลในสังกัดเตรียมความพร้อม สนับสนุนการทำงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Emergency Operation Center : EOC) ทั้งในส่วนกลางและจังหวัด เป็นศูนย์ประสานและสนับสนุนการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาล สนับสนุนการทำงานของชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้นของ อปท. ฝึกทักษะการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉิน เตรียมความพร้อมศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ ทีมปฏิบัติการฉุกเฉิน (EMS) ของโรงพยาบาลและเครือข่ายภาครัฐและเอกชนทุกระดับ รวมทั้งหน่วยปฏิบัติการทางอากาศและทางเรือ นอกจากนี้ ยังให้มีการจัดหน่วยกู้ชีพระดับพื้นฐาน (Basic Life Support : BLS) และหน่วยปฏิบัติการระดับสูง (Advanced Life Support : ALS) ประจำบนเส้นทางถนนสายหลักที่มีจุดตรวจ/ จุดบริการอยู่ห่างกันมาก เพื่อให้การดูแลรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว และในกรณีบาดเจ็บ/เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถรับบริการที่โรงพยาบาลใกล้ที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรก ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP)
นอกจากนี้ ยังให้โรงพยาบาลทุกแห่งเพิ่มจำนวนบุคลากรที่อยู่เวรจากปกติ เตรียมห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู ระบบส่งต่อ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับบุคลากรและผู้ป่วยขณะนำส่ง ให้มีการเจาะเลือดตรวจระดับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุ ตามการร้องขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในกรณีที่ไม่สามารถเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้ รวมทั้งให้ทุกสถานพยาบาลประสานตำรวจท้องที่มาตรวจตราความเรียบร้อยเป็นระยะๆ ป้องกันเหตุความรุนแรงในสถานพยาบาล เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วยและญาติที่มารับบริการที่ห้องฉุกเฉิน และหากมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น ให้ดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุขั้นเด็ดขาดเพื่อเป็นตัวอย่างแก่สังคม
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า “ดื่มแล้วขับ” เป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนน สสส.ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายเน้นย้ำรณรงค์ปีใหม่ 2567 ขับเคลื่อนเครือข่ายตำบลสุขภาวะ กว่า 3,000 แห่ง และ 189 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน 35 อำเภอ 20 จังหวัด เข้มข้นดูแลพี่น้องประชาชนสร้าง “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” ลดความสูญเสีย ดูแลพฤติกรรมเสี่ยงในพื้นที่ และหนุนเสริมอำเภอเสี่ยงกว่า 200 อำเภอ วางแผนป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ ลดพฤติกรรมเสี่ยงในพื้นที่ นอกจากนี้เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับทั่วประเทศ ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ขอให้มีมาตรการสำคัญช่วงเทศกาลปีใหม่ 1. ตรวจแอลกอฮอล์ในอุบัติเหตุที่เกิดทุกครั้ง 2.ห้ามขายแอลกอฮอล์ให้กับเด็กและเยาวชน และไม่อนุญาตให้เด็ก และเยาวชนใช้บริการในสถานบริการ 3. หากพบเด็กและเยาวชนเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ ขอให้มีการติดตามไปถึงร้านค้าที่ขายแอลกอฮอล์
“สสส. ผลิตสื่อรณรงค์สปอตโฆษณา 2 เรื่อง และหนังออนไลน์ 1 เรื่อง ภายใต้แคมเปญ “ดื่มไม่ขับ: ดื่มเหล้า เมาถึงสมอง” เรื่องที่ 1 “สมองช้า” แอลกอฮอล์ส่งผลต่อสมอง ตอบสนองช้าลง สปอตเรื่องที่ 2 กะระยะง่ายๆ พลาด ที่สื่อสารว่าแอลกอฮอล์ ส่งผลต่อสมอง ทำให้กะระยะในการขับขี่ผิดพลาด และหนังออนไลน์ 1 เรื่อง ชื่อเรื่อง The Loop หากยังไม่หยุดพฤติกรรมเช่นนี้อาจมีจุดจบเหมือนในหนังโฆษณา ขอฝากไปยังประชาชนที่จะเดินทางในช่วงปีใหม่ ดื่มไม่ขับ ก่อนออกเดินทางควรพักผ่อนให้เพียงพอ สวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง ท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล ปีใหม่นี้อย่างมีความสุข และปลอดภัย” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
******************************** 21 ธันวาคม 2566