สาธารณสุข เผยโรคถุงลมปอดโป่งพองที่เกิดจากการสูบบุหรี่ คร่าชีวิตคนทั่วโลกนาทีละ 6 คน ส่วนคนไทยพบป่วยด้วยโรคถุงลมโป่งพอง 1 แสน 8 หมื่นคน ส่วนใหญ่พบในผู้ชายวัย 30-50 ปี ผลกระทบโรคนี้ทำให้เกิดปัญหาผู้ชายไม่กล้ามีเพศสัมพันธ์ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2549 นี้ องค์การอนามัยโลก และองค์การโรคถุงลมโป่งพองแห่งโลก ได้กำหนดให้เป็นวันโรคถุงลมโป่งพองแห่งโลก (World COPD Day) ในปีนี้กำหนดคำขวัญว่า “หายใจลำบาก ยังมีโอกาสแก้ไข” (Breathless not Helpless) เพื่อรณรงค์กระตุ้นเตือนให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชน ตระหนักถึงภัยอันตรายของโรคถุงลมปอดโป่งพอง ที่มีต้นเหตุมาจากการสูบบุหรี่ถึงร้อยละ 70 และมีผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มขึ้นทุกปี นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า โรคถุงลมปอดโป่งพองหรือโรคซีโอพีดี (COPD: Chronic Obstructive Pulmonary Disease) เป็นภาวะที่ถุงลมปอดถูกทำลายจากควันบุหรี่ ทำให้มีการแลกเปลี่ยนออกซิเจนเข้าไปในเลือด และขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายไม่ได้ ทำให้เกิดอาการหายใจลำบาก ทุรนทุรายมาก กำลังกลายเป็นปัญหาคุกคามทั่วโลกและจะมากขึ้นในอนาคต องค์การอนามัยโลกระบุว่าล่าสุดในปี 2548 ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคถุงลมปอดโป่งพองอยู่ในระดับปานกลางถึงรุนแรง 80 ล้านคน เสียชีวิต 3 ล้านคน เฉลี่ยเสียชีวิตนาทีละ 6 คน เป็นสาเหตุการตายอยู่ในอันดับ 4 รองจากโรคมะเร็ง หัวใจขาดเลือด และเส้นเลือดในสมอง และคาดว่าโรคนี้จะขยับขึ้นเป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 ในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 30 หากไม่มีการแก้ไขโดยเฉพาะการสูบบุหรี่และลดมลพิษทางอากาศ จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เพราะเมื่อเป็นแล้วรักษาไม่หาย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะพบในผู้ชายมากกว่าหญิง โดยจากข้อมูลพบว่าขณะนี้มีคนสูบบุหรี่ทั่วโลก 1,100 ล้านคน และควันบุหรี่มีสารพิษกว่า 4,000 ชนิด สารที่เป็นอันตรายต่อปอดคือ ทาร์ ไฮโดรเจนไซยาไนด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ สารทั้ง 3 ชนิดนี้จะทำลายถุงลมปอด ทำให้กระบวนการกำจัดของเสียจากปอดเสื่อมลงอย่างถาวร นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อว่า สำหรับในประเทศไทยในปี 2548 มีคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแล้วร้อยละ 0.4 หรือประมาณ 180,000 ราย โดยพบในผู้ชายมากกว่าหญิง 2 เท่าตัว กว่าร้อยละ 90 มีสาเหตุจากการสูบบุหรี่ ซึ่งขณะนี้คนไทยวัยทำงานอายุระหว่าง 25-54 ปี เป็นกลุ่มที่สูบบุหรี่มากสุด ส่วนใหญ่อยู่นอกเขตเทศบาล ผลกระทบจากบุหรี่ที่ชัดเจนก็คือ ชายไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดเป็นอันดับ 1 ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงการป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคถุงลมปอดโป่งพอง ในปี 2550 นี้กระทรวงสาธารณสุขจะรณรงค์ลดการการสูบบุหรี่อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง โดยจะจัดเขตปลอดบุหรี่ให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 95 เพื่อคุมครองสุขภาพคนไม่สูบบุหรี่ที่มีประมาณ 52 ล้านคน ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สัญญานของโรคถุงลมโป่งพอง เริ่มแรกจะนำด้วยอาการไอจากหลอดลมอักเสบเรื้อรัง มีเสมหะมาก ทำให้ถุงลมขาดความยืดหยุ่น แตกง่ายและทะลุถึงกัน ทำให้เกิดเป็นถุงลมขนาดใหญ่แต่การทำงานไม่ดี การแลกเปลี่ยนอากาศน้อยลง ทำให้ต้องหายใจเร็วขึ้น และมีอาการหอบเหนื่อย ปากเขียว โรคถุงลมโป่งพองรักษาไม่หายขาดมีแต่ทรงกับทรุด ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โรคนี้มีอัตราตายเพิ่มขึ้น 6 เท่าตัวในรอบ 17 ปี ผลสำรวจล่าสุดในปี 2547 ผู้ชายอายุ 15 ปีขึ้นไปสูบบุหรี่เป็นประจำเฉลี่ยวันละ 13 มวนร้อยละ 46 ขณะที่กลุ่มผู้หญิงสูบประจำเฉลี่ยวันละ 8 มวน เพียงร้อยละ 2 จึงคาดคะเนว่าภายในปี 2553 จะมีคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปป่วยจากโรคถุงลมปอดโป่งพองร้อยละ 1.5 หรือประมาณ 170,000 ราย นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่ออีกว่า อันตรายของโรคถุงลมโป่งพองนี้ เป็นโรคที่นักสูบบุหรี่เกรงกลัวมากที่สุด เนื่องจากจะมีความทุกข์ทรมานนานมากกว่าจะเสียชีวิต ส่วนใหญ่อายุเฉลี่ยของคนที่เป็นโรคถุงลมโป่งพองจากการสูบบุหรี่จะอยู่ระหว่าง 55-65 ปี ผู้ที่ติดบุหรี่ถุงลมจะถูกทำลายไปเรื่อยๆ เมื่อถุงลมมีน้อยลงก็ต้องหายใจมากขึ้น เริ่มเหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกาย หากโรคกำเริบมากแค่เดินก็จะเหนื่อยแล้ว ต่อไปการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น ล้างหน้าแปรงฟัน เข้าห้องน้ำก็เหนื่อย และระยะสุดท้ายอยู่เฉยๆ ก็เหนื่อย ทั้งหมดนี้มีผลถึงการมีเพศสัมพันธ์ด้วย จะทำให้สมรรถภาพทางเพศเสื่อมเพราะเหนื่อยง่าย ทำให้ไม่กล้าที่จะมีเพศสัมพันธ์ มักพบในผู้ชายอายุระหว่าง 30-50 ปี ซึ่งควันบุหรี่มีสารทำให้รูหลอดเลือดตีบแคบลง ทำให้เส้นเลือดและเส้นประสาทที่ควบคุมการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายเสื่อม ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองระยะสุดท้ายจะเกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจ หลอดลมอักเสบ มีอาการเหนื่อยหอบ ต้องเข้า ๆ ออก ๆ รักษาในห้องไอซียู มักจะถูกเจาะคอ ใช้เครื่องช่วยหายใจและยาขยายหลอดลม กินอาหารทางสายยาง ปัสสาวะทางสายยาง อุจจาระบนเตียง พูดไม่ได้ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เป็นภาระแก่ครอบครัวมาก ค่ารักษาขั้นต่ำครั้งละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท ฉะนั้นการไม่สูบบุหรี่จะเป็นวิธีการหลีกเลี่ยงไม่ให้เป็นโรคถุงลมปอดโป่งพอง ส่วนในกลุ่มที่สูบบุหรี่หรือกำลังติดบุหรี่ ควรต้องแข็งใจลดจำนวนมวนที่สูบให้น้อยลงและหยุดสูบให้เร็วที่สุด เพื่อลดการถูกทำลายของถุงลมซึ่งในปอดมีนับล้านถุง แต่หากถูกทำลายจะเสียอย่างถาวร นายแพทย์ณรงค์ กล่าว พฤศจิกายน 3/9-10 ******************************** 14 พฤศจิกายน 2549


   
   


View 8    14/11/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ