กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ส่งทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา ลงพื้นที่ร่วมกับ หน่วยงานในพื้นที่ อาทิ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ สำนักงานป้องกันและควบคุมโรค สำนักงานสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาล และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เข้าตรวจสอบ ประเมินความเสี่ยงสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม พร้อมสื่อสาร สร้างการรับรู้ และให้คำแนะนำในการดูแล เฝ้าระวัง และป้องกันด้านสุขภาพแก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งพนักงานในถสานประกอบกิจการเกิดเหตุภาวะฉุกเฉินก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล

         นายภิญญาพัชญ์ จุลสุข ผู้อำนวยการกองอนามัยฉุกเฉิน กรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีก๊าซแอมโมเนียซึ่งเป็นก๊าซพิษอันตรายต่อสุขภาพรั่วไหลออกจากกระบวนการผลิตในโรงงานผลิตอาหารแปรรูป ชิ้นส่วนไก่สด ของบริษัท เอส พี เอ็ม ฟาร์ม จำกัด ตำบลหนองบัวน้อย อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ทำให้พนักงานมีภาวะทางสุขภาพ แน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ หายใจไม่สะดวก และมีความเสี่ยงส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยใกล้เคียง ซึ่งแพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย ได้ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ดังกล่าว สั่งการให้ทีม SEhRT ของศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา ลงพื้นที่สนับสนุนการทำงานในพื้นที่  

          นายภิญญาพัชญ์ กล่าวต่อไปว่า จากรายงานของทีม SEhRT ของศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา ที่ได้ร่วมตรวจสอบที่เกิดเหตุ เบื้องต้นได้แนะนำให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการควบคุม กำกับการจัดการด้านสุขลักษณะ ความปลอดภัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมของสถานประกอบกิจการที่เกิดเหตุให้เป็นไปตามมาตรฐานการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด พร้อมให้ผู้ประกอบการมีระบบแจ้งเตือนก๊าซพิษรั่วไหลและมีการซ้อมแผนเผชิญภาวะฉุกเฉินของสถานประกอบกิจการด้วย รวมถึงให้พนักงาน สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ในขณะปฏิบัติงานทุกครั้ง สำหรับการสำรวจ ประเมินความเสี่ยงสุขภาพ และอนามัยสิ่งแวดล้อมในชุมชนโดยรอบ เบื้องต้นยังไม่พบประชาชนได้รับผลกระทบจากก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล จึงได้มีคำแนะนำสำหรับประชาชนดังนี้ 1) หากได้กลิ่นหรือได้รับความเสี่ยงจากก๊าซแอมโมเนียที่มาจากสถานประกอบกิจการใกล้เคียง ให้รีบอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ทันที 2) หลีกเลี่ยงการออกนอกอาคาร บ้านเรือน ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิดและสวมใส่หน้ากากป้องกันสารเคมีตลอดเวลาที่ไม่ให้รับสัมผัส สูดดมก๊าซพิษเข้าสู่ร่างกาย 3) สังเกตอาการตนเอง และคนในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง หากมีอาการ ตาอักเสบ น้ำตาไหล หายใจหอบถี่ ระคายเคืองเยื่อบุตา ทางเดินหายใจ คลื่นไส้ อาเจียน และผิวหนังอักเสบ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและพบแพทย์โดยทันที และ 4) เมื่อเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ขอให้เปิดประตู หน้าต่างเพื่อระบายอากาศลดการสะสมของก๊าซพิษที่อาจปนเปื้อนในบ้าน และให้ทำความสะอาด บ้านเรือน เฟอร์นิเจอร์ด้วย

            “ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นสัญญาณเตือนให้สถานประกอบกิจการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการในการควบคุม กำกับ การประกอบกิจการให้ถูกสุขลักษณะเป็นตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแล จัดการสถานประกอบกิจการประเภทที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตราย ที่อาจเกิดการระเบิด เพลิงไหม้ หรือปล่อยสารเคมีรั่วไหลลงในสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งพนักงานในสถานประกอบกิจการ และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง” ผู้อำนวยการกองอนามัยฉุกเฉิน กรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย / 12 มกราคม 2567



   
   


View 143    12/01/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ