เด็กและวัยรุ่นไทยเสี่ยงมีปัญหาทางจิตเพิ่มขึ้น “ชลน่าน” หนุนกรมสุขภาพจิต - สสส. - ศธ. ปั้น “ครูแคร์ใจ” ช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น

             สถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่นไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น วัยรุ่นอายุ 13-17 ปี กว่าร้อยละ 17 เคยมีความคิดทำร้ายตนเอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หนุนสร้าง เครือข่าย “ครูแคร์ใจ” โดยกรมสุขภาพจิต ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และกระทรวงศึกษาธิการ ช่วยพัฒนาศักยภาพครูในการส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นในสถานศึกษา นำร่องรุ่นที่ 1 ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ก่อนขยายผลทั่วประเทศต่อไป

               วันนี้ (19 มกราคม 2567) ที่โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการอบรมพัฒนายกระดับศักยภาพครูเพื่อการส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น และกล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่นไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะปัญหาด้านพฤติกรรม อารมณ์ และสังคม ที่นำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพจิตและจิตเวชในระยะยาว โดยข้อมูลกรมสุขภาพจิตในปี 2565 พบว่า วัยรุ่นอายุ 10-19 ปี  ประมาณ 1 ใน 7 คน และเด็กอายุ 5-9 ปี ประมาณ 1 ใน 14 คน มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ โดยวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี ร้อยละ 17.6 เคยมีความคิดทำร้ายตนเองซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของวัยรุ่น นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกกัน ปัญหาความรุนแรง การถูกทอดทิ้ง หรือการถูก      ทารุณกรรม ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตมากขึ้น

             นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ปี 2561-2580 ว่าด้วยการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนในทุกมิติและทุกช่วงวัย ให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพพร้อมทั้งกาย ใจ และสติปัญญา ซึ่งในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นเป็นวัยกำลังศึกษาเล่าเรียน เวลาส่วนใหญ่ของเด็กวัยนี้จะอยู่ในสถานศึกษา ครูจึงเป็นผู้ที่บทบาทอย่างมากในการชี้นำ ให้คำปรึกษา แนะแนวทางต่างๆ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต จึงร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และกระทรวงศึกษาธิการ จัดโครงการ “อบรมพัฒนาและยกระดับศักยภาพครู” หรือ  "ครูแคร์ใจ" เพื่อให้ครูมีความรู้และทักษะสำคัญในการส่งเสริม ป้องกันปัญหาด้านสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นในสถานศึกษาได้

             นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เด็กในปัจจุบันมีความฉลาดและเท่าทันกับยุคสมัย การให้ความรู้ด้วยการสอนเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ แต่หากมีกระบวนการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนด้วยการรับฟังอย่างเข้าใจ จะเป็นโอกาสในการลดปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและเยาวชนได้ การจัดอบรม “ครูแคร์ใจ” ครั้งนี้ จึงเน้นความรู้และทักษะที่จำเป็น อาทิ ทักษะการฟัง Deep Listening การป้องกันความรุนแรงและการกลั่นแกล้งรังแกกันในโรงเรียน การคัดกรองความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต เป็นต้น โดยนำร่องรุ่นที่ 1 ในสถานศึกษาในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จากนั้นจะขยายผลทั่วประเทศต่อไป

               ด้าน นพ. จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข  โดยกรมสุขภาพจิต ได้มีการดำเนินงานร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ ในการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพจิตนักเรียน ผ่านแอปพลิเคชัน School Health Hero ซึ่งมีการเฝ้าระวังปัญหาทางด้านสุขภาพจิตนักเรียน หากพบความเสี่ยง คุณครูสามารถปรึกษาบุคลากรทางแอปพลิเคชันได้ทันที โดยในปีการศึกษา 2565 มีนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้รับการช่วยเหลือจนดีขึ้น ถึงร้อยละ 73 นอกจากการพัฒนาระบบเฝ้าระวังแล้ว ยังมีการอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการศึกษาไปแล้วกว่า 6,900 คน ประกอบไปด้วยบุคลากรจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และ สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร โดยกรมสุขภาพจิต จะมีการดำเนินการพัฒนาแอปพลิเคชัน School Health Hero ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกมากขึ้น พัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงขยายพื้นที่ในการเฝ้าระวังสุขภาพจิตนักเรียนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ    ต่อไป

                                                                                     ************************************* 19 มกราคม 2567



   
   


View 8842    19/01/2567   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ