ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 46 View
- อ่านต่อ
คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ เปิดข้อมูลผลสำรวจการบริโภคยาสูบในกลุ่มนักเรียนอายุ 13 - 15 ปี พบเด็กและเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ถึง 5.3 เท่า จากปี 2558 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า บังคับใช้กฎหมายเคร่งครัด และสร้างการรับรู้โทษและพิษภัยของการบริโภคยาสูบทุกรูปแบบ เพื่อตัดวงจรการเป็นนักสูบหน้าใหม่
วันนี้ (19 มกราคม 2567) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ปลัดกระทรวงหรือผู้แทนปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสสส. เข้าร่วมประชุม
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า จากผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ Global Youth Tobacco Survey : GYTS ปี พ.ศ. 2565 ของประเทศไทย ในกลุ่มนักเรียนที่มีอายุระหว่าง 13 - 15 ปี พบว่า เด็กและเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นถึง 5.3 เท่า เมื่อเทียบกับข้อมูลปี 2558 ถือว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไข นอกจากนี้ ยังพบสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากเด็กและเยาวชนได้รับความรู้เกี่ยวกับอันตรายและพิษภัยจากผลิตภัณฑ์ยาสูบลดลง และสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ได้ง่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนั้น ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้หน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ดำเนินมาตรการการควบคุมการบริโภคยาสูบในกลุ่มเด็กและเยาวชนโดยเร่งด่วน ดังนี้ 1) เน้นย้ำมาตรการป้องกัน ควบคุม การแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย 2) ยกระดับการเฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมายด้านการควบคุมยาสูบ โดยเฉพาะการนำเข้า การขายบุหรี่ไฟฟ้า และ 3) เร่งสร้างความตระหนัก สื่อสารและเผยแพร่เกี่ยวกับโทษ พิษภัยและกลยุทธ์ของธุรกิจผลิตภัณฑ์ยาสูบ ในทุกช่องทาง เพื่อให้เด็กและเยาวชนรู้เท่าทัน ไม่หลงเชื่อทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบ เป็นการตัดวงจรไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าสู่การเป็นนักสูบหน้าใหม่
นพ.ธงชัย กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันเยาวชนที่เริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ และพบคนไทยเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดขึ้นจากบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น เช่น ภาวะปอดอักเสบรุนแรง โรคหลอดลมขนาดเล็กตีบตัน จึงต้องเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน โดยขณะนี้กรมควบคุมโรคได้เตรียมความพร้อมทั้งด้านข้อมูลวิชาการ การบังคับใช้กฎหมาย และช่องทางการเข้าถึงบริการเลิกบุหรี่ไว้เรียบร้อยแล้ว และมีการประสานบูรณาการการทำงานอย่างใกล้ชิดกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเร่งสร้างความรู้โทษพิษภัยให้กับเด็กและเยาวชน ตลอดจนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ทั่วประเทศ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และกรมศุลกากร เพื่อให้มีการกวดขันปราบปราม และบังคับใช้กฎหมายกับผู้นำเข้า ผู้ขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการ 4 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านติดตาม ประเมินผล และตรวจสอบการดำเนินงานควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ 2.ด้านบำบัดรักษา และฟื้นฟูผู้เสพติดผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งมีการผลักดันยาเลิกบุหรี่ Cytisine ให้ได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนยาแล้วเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา 3.ด้านกฎหมาย และ 4.ด้านการเร่งรัดติดตามการดำเนินงานคดีการกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ล่าสุดปี 2566 มีการเร่งรัดติดตามดำเนินคดี 136 คดี เปรียบเทียบปรับ/คดีสิ้นสุดแล้ว 98 คดี อยู่ระหว่างดำเนินการในชั้นพนักงานสอบสวน 38 คดี และมีคดีที่เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า (ข้อมูล ณ กันยายน-พฤศจิกายน 2566) 144 คดี
สำหรับการรณรงค์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม 2567 องค์การอนามัยโลกได้กำหนดประเด็นในการสื่อสารและจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ ว่า “#บุหรี่ไฟฟ้า : หยุดโกหกได้แล้ว” “Stop The lies” (Protecting children from tobacco industry interference) มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องเด็ก เยาวชน จากการแทรกแซงกลยุทธ์ธุรกิจยาสูบทุกรูปแบบ
******************************* 19 มกราคม 2567