ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 แนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จังหวัดที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน 44 จังหวัด เปิดศูนย์ปฏิบัติการแล้ว 23 จังหวัด ย้ำประชาชนเช็คค่าฝุ่นก่อนออกจากบ้านทุกครั้งและปฏิบัติตนตามคำแนะนำ ส่วนโรงพยาบาลในสังกัดใน 30 จังหวัดเสี่ยงจัดทำ “ห้องปลอดฝุ่น” ครบทุกจังหวัดแล้ว รวม 2,055 ห้อง มีผู้เข้ารับบริการสะสม 15,950 คน หากเป็นกลุ่มเสี่ยงติดต่อเข้ารับบริการเพื่อลดโอกาสรับสัมผัสมลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 ได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน

           นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลล่าสุด (6 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 07.00น.) โดยกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีพื้นที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน (37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาก์ศเมตร) จำนวน 44 จังหวัด ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข PHEOC แล้ว 23 จังหวัด โดยจังหวัดที่ค่าฝุ่นละอองสูงสุดคือ ลำปาง รองลงมา กาญจนบุรี ตาก มุกดาหาร หนองคาย อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ พะเยา อุทัยธานี นครพนม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 – 5 กุมภาพันธ์ 2567 มีรายงานผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพสะสม แบ่งเป็น รับบริการแบบผู้ป่วยใน 29 คน เข้ารับบริการแบบผู้ป่วยนอก 9,764 คน และฉุกเฉิน 1,407 คน

          นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 ที่เกินมาตรฐานจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ หัวใจและหลอดเลือด กระทรวงสาธารณสุขจึงให้ทุกจังหวัดสำรวจห้องปลอดฝุ่น (Clean Room) เพื่อรองรับสถานการณ์ โดยเฉพาะจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 1, 2, 3, 8 และปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงรวม 30 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย เพชรบูรณ์ ชัยนาท กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี นครพนม สกลนคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ให้จัดทำห้องปลอดฝุ่นให้กลุ่มเสี่ยงได้เข้าพัก เพื่อลดโอกาสรับสัมผัสมลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 ซึ่งล่าสุด ได้รับรายงานว่าโรงพยาบาลทุกแห่งใน 30 จังหวัดเสี่ยงดำเนินการครบถ้วนแล้ว รวม 2,055 ห้อง รองรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้ 33,047 คน มีประชาชนเข้ารับบริการสะสม 15,950 คน นอกจากนี้ ยังมี สถานบริการในสังกัดกรมการแพทย์ กรมอนามัย และกรมสุขภาพจิต จัดทำห้องปลอดฝุ่นอีก 509 ห้อง รองรับกลุ่มเสี่ยงได้ 12,954คน

         “ในช่วงนี้ แนะนำประชาชนตรวจสอบค่าฝุ่น PM 2.5 ก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง เพื่อจะได้ปฏิบัติตนตามคำแนะนำได้ถูกต้อง ส่วนประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง 30 จังหวัด หากค่าฝุ่นเกินมาตรฐานในระดับสีแดง เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขอให้ติดต่อเข้ารับบริการห้องปลอดฝุ่น เพื่อลดโอกาสรับสัมผัสมลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 ได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือสอบถามเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่” นายแพทย์โอภาสกล่าว

 **************************************************** 6 กุมภาพันธ์ 2567



   
   


View 1128    06/02/2567   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ