ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 39 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้แทน WHO, UNICEF, UNFPA เยี่ยมชมการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ โรงพยาบาลนครพิงค์ และเครือข่ายจังหวัดเชียงใหม่ ชื่นชมไทยมีนโยบายชัดเจนและมีการขับเคลื่อนสู่วาระแห่งชาติ เป็นการคุ้มครองสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ
วันนี้ (12 กุมภาพันธ์ 2567) ที่ โรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดชียงใหม่ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย นำคณะผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ ดร.จอส ฟอนเดลาร์ (Dr. Jos Vandelaer) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย คุณ คยองซัน คิม (Ms. Kyungsun Kim) ผู้แทนยูนิเซฟประจำประเทศไทย คุณสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงานกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประจำประเทศไทย ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางในการพัฒนา ความร่วมมือสนับสนุนวาระแห่งชาติเรื่องการเพิ่มประชากร ภายใต้นโยบายส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ และเยี่ยมชมคลินิกส่งเสริมการมีบุตร, ANC คุณภาพ / โรงเรียนพ่อแม่, ห้องคลอดคุณภาพ, Well child clinic, Day care ของโรงพยาบาลนครพิงค์ และหน่วยบริการของภาคีเครือข่าย
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขได้ผลักดันประเด็นการส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพในการพัฒนาประชากรและทุนมนุษย์ให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการบูรณาการทุกภาคส่วนในการร่วมกันแก้ไขปัญหา ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศได้ในเดือนมีนาคมนี้ โดยมีสาระสำคัญที่พิจารณาคือ มาตรการส่งเสริมการมีบุตร ทั้งเรื่องความสมดุลการทำงานกับการดูแลครอบครัว การแบ่งเบาค่าใช้จ่ายและภาระในการเลี้ยงดูบุตร การช่วยเหลือคนที่มีบุตรยาก รวมไปถึงการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ในกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มหนุ่มโสด สาวโสดที่อยากมีบุตรแต่ไม่อยากมีคู่ ให้มีโอกาสที่จะมีบุตรได้ เนื่องจากประเทศไทยประสบปัญหาเด็กเกิดน้อยมาอย่างต่อเนื่อง
โดยในปี 2565 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่เพียง 485,085 ราย น้อยที่สุดในรอบกว่า 70 ปี และจำนวนการเกิดยังน้อยกว่าการตาย ทำให้จำนวนประชากรลดลงตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ยังพบว่าอัตราการเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate) หรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยของหญิงไทยลดลงเหลือเพียง 1.08 ซึ่งต่ำกว่าระดับทดแทนและมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ และหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป คาดการณ์ว่า ในอีก 60 ปี ข้างหน้า จำนวนประชากรไทยจะลดลงถึงครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 33 ล้านคน โดยวัยทำงานลดลงจาก 46 ล้านคน เหลือเพียง 14 ล้านคน ส่วนเด็กอายุ 0 - 14 ปี ลดลงเหลือเพียง 1 ล้านคน ขณะที่ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะเพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคน เป็น 18 ล้านคน ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างจำนวนประชากรมากขึ้น และเสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงาน ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศในอนาคต
นายแพทย์ชลน่านกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข จึงได้มอบหมายให้กรมอนามัย เป็นแกนหลัก ในการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพ ภายใต้แนวคิด “Give Birth Great World การเกิดคือการให้ที่ยิ่งใหญ่” สนับสนุนให้โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งจัดตั้งคลินิกส่งเสริมการมีบุตร บริการให้คำปรึกษา วางแผนการตั้งครรภ์ วินิจฉัยและรักษาภาวะมีบุตรยาก รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก (IUI) และพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลให้สามารถให้บริการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังผลักดันให้การรักษาภาวะมีบุตรยากเป็นสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานซึ่งใกล้จะเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว
“ที่ผ่านมา การดำเนินงานด้านการคุ้มครองสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแม่และเด็ก ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) องค์การอนามัยโลก (WHO Thailand) องค์การยูนิเซฟ (UNICEF Thailand) ทั้งด้านความร่วมมือทางวิชาการ และการขับเคลื่อนงานระดับพื้นที่ โดยเฉพาะในกลุ่มพื้นที่ห่างไกลและ กลุ่มเปราะบาง ซึ่งการผลักดันให้การส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพเป็นวาระแห่งชาติครั้งนี้ ก็ได้รับการชื่นชม จากทั้ง 3 องค์กรเช่นกัน เชื่อว่าจะก่อให้เกิดแรงกระตุ้นและเกิดการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป” นายแพทย์ชลน่านกล่าว
*********************************************** 12 กุมภาพันธ์ 2567