กระทรวงสาธารณสุข เตรียมลงนามบันทึกความเข้าใจ MOU ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐ ประชาชนจีน ประจำประเทศไทย เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์พื้นบ้าน  ตลอดจนพัฒนาต่อยอด เป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพประชาชน เพื่อตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในกลุ่ม  6 ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง
          นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ตามที่ คณะรัฐมนตรี มีมติให้ความเห็นชอบ ให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ MOU ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย เพื่อสร้างความร่วมมือ ด้านการแพทย์ดั้งเดิม และการแพทย์พื้นบ้าน  ตลอดจนพัฒนาต่อยอด เป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพประชาชน เพื่อตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ภายใต้โครงการ Strengthening the Cooperation of Traditional and Indigenous Medicine in Response to COVID-19 Pandemic in the Greater Mekong Basin ในกลุ่มประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง นับเป็นกลไกหนึ่งสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือ ประกอบด้วย 6 ประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้แก่ ไทย กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และ สาธารณรัฐประชาชนจีน 
           สำหรับปี 2567 นี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในฐานะเจ้าภาพจัดงาน ร่วมกับ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ภายใต้กิจกรรมการประชุมวิชาการการแพทย์พื้นบ้านลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 11 (The 11th Meeting on Indigenous Medicine in the Greater Mekong Basin) ในวันที่ 11 – 13 มิถุนายน 2567 ณ จังหวัดหนองคาย เพื่อมุ่งเน้นการถอดบทเรียนและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การจัดการ ในด้านการรักษา และ การควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 โรคอุบัติใหม่ และโรคสำคัญอื่น รวมทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถด้านการสาธารณสุขชายแดน อีกทั้ง ยังเป็นการพัฒนาและยกระดับ ความร่วมมือทางด้านการสาธารณสุข รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง 
           ทางด้าน ดร.นันทศักดิ์ โชติชนะเดชาวงศ์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย     และแพทย์พื้นบ้านไทย กล่าวเสริมว่า สำหรับ ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ คือ สามารถเรียนรู้จุดแข็งและจุดอ่อนของการประยุกต์ใช้องค์ความรู้การแพทย์ต่างๆ ของแต่ละประเทศสำหรับใช้ดูแลสุขภาพประชาชน รวมถึงแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายด้านการแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์พื้นบ้านของแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศไทยสามารถ   นำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์และปรับประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านของประเทศ ตลอดจนพัฒนาต่อยอดด้วยภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านของประเทศไทยและประเทศสมาชิก เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพประชาชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศมากที่สุด 

                        ……………………………………………………..15 กุมภาพันธ์ 2567.......................................................
 



   


View 341    15/02/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ