องคมนตรี ติดตามความก้าวหน้าการพัฒนางานโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดม จ.อุบลราชธานี ทั้งกิจกรรมสนองพระบรมราโชบายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ และการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุข พร้อมมอบประกาศเกียรติคุณผู้ทำคุณประโยชน์ มอบถุงพระราชทานให้กับผู้ป่วย และให้ขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน

         วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2567) นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะรองประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช พร้อมด้วย นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10 คณะผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจเยี่ยมติดตามผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดม จ.อุบลราชธานี พร้อมมอบประกาศเกียรติคุณผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับมูลนิธิฯ มอบถุงพระราชทานให้กับผู้ป่วย และให้ขวัญกำลังใจผู้ปฏิบัติงาน

         นพ.สมฤกษ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดม ขับเคลื่อนงานสนองพระบรมราโชบายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์อย่างต่อเนื่อง ในการจัดบริการทางการแพทย์ให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงเสมอกัน อาทิ การคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน รวม 1,379 ราย ทำให้ค้นพบผู้ป่วยมะเร็งในระยะต้น สามารถรักษาให้หายขาดและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วย, ถวายการดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ สามเณร และผู้นำทางศาสนา จำนวน 312 รูป พบความผิดปกติและส่งเข้ารับการตรวจรักษาต่อ 20.19% นอกจากนี้ ยังติดตามดูแลผู้ด้อยโอกาสและผู้ป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์ 41 ราย มอบทุนพระราชทานสงเคราะห์คนไข้ยากจน 43 ราย และจัดโครงการออมขวัญ ปันสุข มอบขวัญถุงพระราชทานรับขวัญสมาชิกใหม่ที่เกิด ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ต่อเนื่องเป็นปีที่ 9

          นพ.สมฤกษ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการขับเคลื่อนงานตามนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขและการแก้ไขปัญหาสุขภาพของพื้นที่ มีการพัฒนาหน่วยบริการเวชศาสตร์ครอบครัว ทำหน้าที่เป็นหน่วยบริการด่านหน้าแบบใกล้บ้านใกล้ใจ 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านแขมเจริญ บ้านโคกเถื่อนช้าง และ บ้านชัยอุดมดูแลประชากรประมาณ 17,000 คน อีกทั้งพัฒนาระบบบริการสำคัญ 7 ด้าน ด้วยเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย ได้แก่ บริการด้านหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง โรคไต ทารกแรกเกิด อุบัติเหตุฉุกเฉิน มะเร็ง และจักษุวิทยา ตลอดจนการผ่าตัดรักษาแบบวันเดียวกลับ ซึ่งมีผลงานการผ่าตัดสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ในกลุ่มโรงพยาบาลทั่วไประดับ M1 และยังร่วมอนุรักษ์พลังงานด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ทำให้สามารถลดค่าไฟฟ้าได้ 216,666.67 บาทต่อเดือน

         นอกจากนี้ ยังมุ่งสู่การเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะต้นแบบ SMART HOSPITAL นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการและให้บริการประชาชน เช่น ระบบบริการ Paperless ทั้งแผนกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน การนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้คัดกรอง อ่านผลเอกซเรย์ และคัดกรองจอประสาทตา เป็นต้น และพัฒนาระบบการจัดการอัจฉริยะ 3 ระบบ ได้แก่ ระบบข้อมูลสุขภาพ เพื่อรองรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว, ระบบฐานข้อมูลการเงินการคลัง เชื่อมระบบข้อมูลผลการดำเนินงานด้านการเงินการคลัง กับฐานข้อมูลกลาง Financial Data Hub และระบบฐานข้อมูลกลาง DUCPH Data Center พัฒนาระบบการจัดการข้อมูลกลางของโรงพยาบาล เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลและตัวชี้วัดที่น่าเชื่อถือ โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยในการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ (Bigdata) มาเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ ทำให้สามารถวิเคราะห์และประมวลผลได้เป็นปัจจุบัน ลดภาระงานในการบันทึกและติดตามข้อมูลของเจ้าหน้าที่

 ****************************************** 15 กุมภาพันธ์ 2567



   
   


View 4109    15/02/2567   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ