กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนเตรียมรับมือภัยความร้อน แนะ 9 ยุทธวิธี เพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพจากอากาศที่ร้อนจัด ทั้งโรคที่มาจากความร้อน ร่างกายขาดน้ำ ภาวะโรคลมร้อน หรือ Heat stroke และโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อแบคทีเรียในอาหารและน้ำดื่ม น้ำใช้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง พร้อมแจ้งหน่วยงานในพื้นที่เร่งเตือนประชาชน

          นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการและคาดว่าปีนี้จะมีอุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่าเดิม จากข้อมูลในปี 2566 พบจุดความร้อนกระจายทั่วประเทศมากกว่า 5,000 จุด พบมากสุดในจังหวัดน่าน แม่ฮ่องสอน และอุตรดิตถ์ สำหรับข้อมูลภาวะเจ็บป่วยจากภัยความร้อน ในปี 2566 พบว่า ประชาชนได้รับผลกระทบจากภัยความร้อนจำนวนมาก เช่น ร่างกายขาดน้ำ ภาวะโรคลมร้อน หรือ  Heat stroke ผดผื่นขึ้นตามผิวหนัง ตะคริวที่แขน ขา หายใจหอบ อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว และหน้ามืดเป็นลม เป็นต้น สำหรับในปี 2567 กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าอุณหภูมิสูงสุดจะอยู่ที่ 44.5 องศา ในบางจังหวัด และค่าเฉลี่ยอุณหภูมิของประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้นจากปกติ 1.0 – 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งภัยความร้อนจะมาพร้อมกับภัยแล้ง ส่งผลให้หลายพื้นที่วิตกกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับใช้ในบ้านเรือน และปัญหาคุณภาพน้ำที่ไม่ได้มาตรฐาน เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดจากการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารและแหล่งน้ำ รวมทั้งหลายพื้นที่
เกิดสถานการณ์ไฟไหม้ป่า ไฟไหม้บ่อขยะ และมีการจุดไฟเผาในที่โล่งแจ้ง ทั้งจากภาคครัวเรือน และภาคการเกษตร ยิ่งส่งผลให้จุดความร้อนขยายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น

       นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัย มีความห่วงใยสุขภาพของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากภัยความร้อน จึงมีกำหนด 9 ยุทธวิธี ประกอบด้วย 4 มาตรการ 5 ข้อแนะนำ เพื่อให้ประชาชนอยู่รอด ปลอดภัย โดย 4 มาตรการแรกมุ่งให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม หน่วยงานภาคการสาธารณสุขในพื้นที่กำหนดมาตรการในการลดความเสี่ยงสุขภาพประชาชนจากภัยร้อน ดังนี้ 1) สำรวจ เฝ้าระวัง ประเมินความเสี่ยงจากความร้อนอย่างใกล้ชิด 2) สื่อสารเตือนภัย ใช้หลัก “หลบ กาง ลด ดื่ม” คือ เข้าในที่ร่มหลบแดดแรงในช่วงกลางวัน กางร่มทุกครั้งเมื่อต้องตากแดดหรือเดินกลางแดดแรง ลดเวลาอยู่กลางแจ้งในช่วงเวลาแดดแรง ๆ ตั้งแต่ 10.00 – 15.30 น. และงดเว้นดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงหน้าร้อน แต่ให้ดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ ลดการสูญเสียน้ำในร่างกาย 3) ปฏิบัติการเชิงรุก เสริมความรู้ สู้ภัยความร้อนในชุมชน และประกาศห้ามเผาในที่โล่งแจ้ง โดยเด็ดขาด และ 4) มีบริการสุขภาพลดเสี่ยงภัยความร้อนในสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อดูแลสุขภาพ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางอย่างใกล้ชิด

           “นอกจากนี้ สำหรับประชาชน กลุ่มเสี่ยงกลุ่มเปราะบาง ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อย่างเคร่งครัด ลดความเสี่ยงจากโรคที่มาจากความร้อน ด้วย 5 คำแนะนำ ดังนี้ 1) หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ออกแดดให้น้อยที่สุด 2) ใช้ร่ม หมวก และเสื้อคลุมป้องกันเมื่อต้องออกแดด 3) เปิดประตู หน้าต่างระบายความร้อน หรือใช้เครื่องปรับอากาศช่วยลดความร้อนได้ 4) กินอาหารสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาด ลดเสี่ยงอุจจาระร่วง ช่วงหน้าร้อน และ 5) สังเกตความผิดปกติตัวเองและครอบครัว เช่น หน้ามือ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หายใจเร็ว หากพบอาการพาหาหมอทันที” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

***

กรมอนามัย /  1 มีนาคม 2567

 

 



   
   


View 359    01/03/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ