กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ส่งทีมปฏิบัติการด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม (ทีม SEhRT) โดยศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี ลงพื้นที่เหตุไฟไหม้โกดังเก็บสารเคมี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในขณะเดียวกันเกิดเหตุไฟไหม้ที่โรงงานขยะรีไซเคิล จังหวัดอุบลราชธานี ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี จึงร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ให้คำแนะนำประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเอง พร้อมทั้งเฝ้าระวัง และตรวจสารปนเปื้อนในแหล่งน้ำ อาหาร อากาศ อย่างต่อเนื่องทั้ง 2 เหตุการณ์ พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมดูแลให้เป็นไปตามกฎหมาย

       นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ไฟไหม้โกดังเก็บสารเคมีที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 ขณะนี้ ยังคงมีควันไฟและกลิ่นสารเคมีอย่างต่อเนื่องทำให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณดังกล่าว เกิดผลกระทบทางสุขภาพจากการสูดดมควันไฟ เขม่า เถ้า อาจมีอาการปวดหัว หายใจไม่ออก หายใจลำบาก คันที่ผิวหนัง และนอนไม่หลับ แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัยจึงส่งทีม SEhRT กรมอนามัย ลงพื้นที่ปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ติดตามสุขภาพประชาชน รวมทั้งตรวจสอบการปนเปื้อนสารเคมีในแหล่งน้ำ อาหาร อากาศ พบว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในระยะ 1 กิโลเมตรได้รับผลกระทบในช่วงเกิดไฟไหม้เล็กน้อย แต่จากการลงพื้นที่ติดตามสุขภาพประชาชนเพิ่มเติม ได้รับแจ้งว่า บางส่วนมีอาการหายใจไม่สะดวก เหม็นไหม้ และรู้สึกรำคาญ บริเวณรอบโกดัง ยังคงได้กลิ่นเหม็นไหม้ และกลิ่นสารเคมีเป็นระยะๆ แต่ไม่รุนแรง จากผลการตรวจวัดค่าสารอินทรีย์ระเหยง่ายในอากาศ พบไม่เกินมาตรฐาน ทั้งนี้ ทีมจังหวัดยังคงติดตามตรวจวัดค่าสารเคมีอย่างต่อเนื่อง สำหรับการใช้น้ำ ประชาชนส่วนใหญ่ใช้น้ำจากการประปาส่วนภูมิภาค ไม่มีการใช้น้ำจากประปาชุมชน และไม่พบการปล่อยน้ำทิ้ง น้ำเสียจากโกดังไปยังภายนอก จึงไม่พบความเสี่ยงการปนเปื้อนสารเคมีในแหล่งน้ำสาธารณะ 

        “ทีม SEhRT กรมอนามัย ได้ให้คำแนะนำสำหรับประชาชนในการดูแล ป้องกันตนเอง รวมทั้งสังเกตอาการคนที่อยู่ใกล้ชิด หากพบอาการรุนแรง หรือมีความผิดปกติจากการสูดกลิ่นเหม็นสารเคมี  ควันไฟ ให้รีบติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อพบแพทย์ทันที และขอให้รับฟังการแจ้งเตือนภัยจากเจ้าหน้าที่ ในกรณีการเกิดภัยพิบัติอื่น ๆจะได้เอาตัวรอด ปลอดภัย ทันเหตุการณ์ สำหรับโกดังที่เกิดเหตุไฟไหม้ พบว่า ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และไม่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งทีมจังหวัดจะตรวจสอบและดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด” รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าว

        นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า ในช่วงเวลาเดียวกัน เกิดเหตุไฟไหม้ที่โรงงานขยะรีไซเคิลจังหวัดอุบลราชธานี กรมอนามัย จึงมอบหมายทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และประเมินความเสี่ยงสุขภาพประชาชนโดยเร่งด่วน จากการลงพื้นที่ พบว่า บริเวณรอบโรงงานเป็นพื้นที่โล่งกว้าง มีบ้านเรือนประชาชนเพียง 3 หลังคาเรือน และจากการสอบถามประชาชนยังไม่มีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุไฟไหม้ ไม่มีแหล่งน้ำสาธารณะ จึงไม่การปนเปื้อนของสารเคมีลงในแหล่งน้ำสาธารณะ การตรวจวัดสารพิษปนเปื้อนในอากาศ พบว่า มีค่าอยู่ในระดับปลอดภัย ไม่ส่งผลต่อสุขภาพ ทั้งนี้ โรงงานดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ ตามกฎหมายว่าด้วย การสาธารณสุข ทีม SEhRTจึงร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เสนอแนวทางเพื่อป้องกันความเสี่ยงการเกิดเหตุไฟไหม้อีกครั้ง ดังนี้ 1) ผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ออกข้อกำหนดท้องถิ่น เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุขพ.ศ. 2535 เพื่อสามารถควบคุม กำกับ การประกอบกิจการของสถานประกอบการให้ได้มาตรฐาน ไม่ก่อให้เกิดเสี่ยงต่อสุขภาพ และทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในการดำรงชีวิตอย่างปลอดภัย 2) แนะนำให้ผู้ประกอบการ ปรับปรุงแก้ไขอาคาร และสถานที่ประกอบการให้ถูกสุขลักษณะ จัดเก็บขยะรีไซเคิลให้เป็นหมวดหมู่ แยกขยะประเภทที่ติดไฟง่ายออกห่างจากแหล่งกำเนิดความร้อน หรือประกายไฟและต้องกำหนดมาตรการความปลอดภัย เช่น ติดตั้งถังดับเพลิง หรือ สเปรย์น้ำ ติดป้ายเตือนห้ามสูบบุหรี่หรือจุดไฟ ในบริเวณเก็บขยะรีไซเคิล แจ้งลูกจ้าง คนงานให้ถือปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด  3) หน่วยงานในพื้นที่ ต้องบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชน ร่วมกันผลักดันให้สถานประกอบการรับซื้อของเก่า เป็นประเด็นความเสี่ยงด้านสุขภาพที่ต้องได้รับการควบคุม กำกับเพื่อลดความเสี่ยงแก่ประชาชนอย่างเร่งด่วน

       “จากเหตุการณ์ภาวะฉุกเฉินทั้ง 2 กรณี เกิดจากสถานประกอบการ โรงงาน หรือสถานที่ที่ประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ตั้งกระจายในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในแหล่งชุมชนที่มีประชาชนอาศัยอยู่กรมอนามัยจึงขอความร่วมมือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำรวจ ตรวจสอบ สถานประกอบการและสถานที่เสี่ยง รวมทั้งจัดทำข้อมูลเพื่อการป้องกันภัยพิบัติซ้ำ ทั้งนี้ ขอให้ประเมินความเสี่ยงตั้งแต่กระบวนการผลิต การเก็บสะสมวัสดุอุปกรณ์หรือสารเคมีอันตราย รวมทั้งให้มีการจัดระบบความปลอดภัยในอาคารอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกัน และลดความเสี่ยงการเกิดเหตการณ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชนในอนาคต” รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าวในที่สุด

***

กรมอนามัย / 2 มีนาคม 2567



   
   


View 118    02/03/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ