รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดอาคาร “วินิจฉัยโรค ผ่าตัด และผู้ป่วยหนัก” รพ.สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 17 จ.สุพรรณบุรี รองรับผู้ป่วยนอกได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,500 คนต่อวัน ดูแลผู้ป่วยหนักทั้งศัลยกรรม อายุรกรรม และทารกแรกเกิด พร้อมยกระดับบริการด้วยระบบดิจิทัล ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงบริการสะดวก รวดเร็ว ลดความแออัดลดการรอคอย

          วันนี้ (6 มีนาคม 2567) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดอาคาร “วินิจฉัยโรค ผ่าตัด และผู้ป่วยหนัก” โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 17 จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมี พระราชรัตนสุนทร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ดร.นพ.วัฒน์ชัย จรูญวรรธนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 17 อสม. และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมพิธี

         นพ.ชลน่าน กล่าวว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 17 เป็นโรงพยาบาลทั่วไป ขนาด 300 เตียง ได้พัฒนาศักยภาพตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ในการยกระดับเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ โดยสนับสนุนให้บุคลากรมีความรู้ด้าน IT ใช้ตู้ kiosk ในการตรวจสอบสิทธิ์ ยืนยันตัวตนได้ในขั้นตอนเดียว จัดบริการการแพทย์ทางไกลในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ให้บริการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ ครอบคลุม รพ.สต. ทั้ง 14 แห่ง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับผู้ป่วยได้อย่างมาก ซึ่งจากการให้บริการ พบแนวโน้มผู้ป่วยโรคต่างๆ เพิ่มขึ้นและมีความซับซ้อนมากขึ้น ขณะที่โรงพยาบาลมีจุดให้บริการต่างๆ กระจายในหลายพื้นที่ ทำให้ผู้ป่วยต้องเดินไกลและใช้บุคลากรในการให้บริการจำนวนมาก ประกอบกับห้องผ่าตัด และห้อง ICU ที่มีอยู่ใช้งานมานานร่วม 30 ปี จึงได้ก่อสร้างอาคารวินิจฉัยโรคผ่าตัดและผู้ป่วยหนักหลังนี้ เพื่อรองรับผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นจาก 1,000 คนต่อวัน เป็น 1,500 คนต่อวัน โดยเน้นใช้ระบบดิจิทัลในการให้บริการ อาทิ ระบบคิวอัจฉริยะ บริการผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกแบบไร้กระดาษ และเตรียมใช้ระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ ประชาชนรับบริการด้วยบัตรประชาชนใบเดียวได้ครบวงจร ช่วยให้ประชาชนในเขตอำเภอสองพี่น้อง และพื้นที่ใกล้เคียงในเขตสุขภาพที่ 5 เข้าถึงบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ลดความแออัด และลดการรอคอย 

          โดยอาคารวินิจฉัยโรคผ่าตัดและผู้ป่วยหนัก เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 5 ชั้น ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 ด้วยวงเงิน 254,000,000 บาท มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 10,950 ตารางเมตร ชั้นที่ 1 ให้บริการผู้ป่วยนอกอายุรกรรม โรคทั่วไป ศัลยกรรมกระดูกและข้อ ศัลยกรรม โรคไต โรคหัวใจ ชั้นที่ 2 ให้บริการผู้ป่วยนรีเวชกรรม กุมารเวชกรรม จักษุ โสตศอนาสิก และห้องบริบาลพระภิกษุสงฆ์ ชั้นที่ 3 ให้บริการผู้ป่วย ห้องผ่าตัด และชั้นที่ 4 ให้บริการผู้ป่วย ห้องผู้ป่วยหนักศัลยกรรม ผู้ป่วยหนักอายุรกรรมผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิด

 *************************************** 6 มีนาคม 2567



   
   


View 3805    06/03/2567   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ