ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 46 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะผู้บริหาร รับฟังข้อเสนอจากเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี และองค์กรที่ทำงานด้านเอชไอวี/เอดส์ ทั้งการสนับสนุนการดำเนินงาน การพัฒนาระบบให้เข้าถึงบริการด้านเอชไอวีเพิ่มขึ้น และการสร้างความเข้าใจและขจัดการเลือกปฏิบัติ เบื้องต้นให้หน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมกับเครือข่ายฯทำแผนปฏิบัติการเพื่อนำไปสู่เป้าหมายยุติเอดส์ภายในปี 2573
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ตนพร้อมด้วย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธาณณสุข นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ผู้แทนสำนักงาคณะกรรมการอาหารและยา ผู้แทนองค์การเภสัชกรรม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมหารือและรับฟังข้อเสนอจากผู้แทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี มูลนิธิเพื่อสิทธิเพื่อความหลากหลาย และองค์กรที่ทำงานด้านเอชไอวี/เอดส์ เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานยุติเอดส์ในประเทศไทย
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวต่อว่า ข้อเสนอของเครือข่ายผู้ติดเชื้อและองค์กรที่ทำงานด้านเอชไอวี/เอดส์ มี 3 ประเด็น ได้แก่ 1.ด้านนโยบายสนับสนุนการขับเคลื่อนงานเพื่อยุติเอดส์ โดยให้ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีสามารถเข้ารับบริการรักษาที่หน่วยบริการใดก็ได้ ทั้ง 3 กองทุน เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสภายในวันเดียวกับวันที่ทราบว่าติดเชื้อ และสนับสนุนให้หน่วยงานทุกระดับ เช่น รพ.สต. ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ร้านขายยา หน่วยบริการภาคประชาสังคม สามารถให้การป้องกัน การดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี ได้อย่างมีมาตรฐาน
2.ด้านการพัฒนาระบบบริการเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านเอชไอวี โดยขอให้มีการปรับลดขั้นตอนให้ภาคประชาสังคมขึ้นทะเบียนได้สะดวกขึ้น สามารถให้บริการและเบิกชดเชยค่าบริการได้ และสามารถให้บริการชุดตรวจเอชไอวีด้วยตัวเอง เพื่อส่งเสริมการตรวจเอชไอวีให้เป็นเรื่องปกติ รวมถึงเพิ่มการเข้าถึงบริการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด ให้หน่วยบริการทุกแห่งจัดบริการได้อย่างมีมาตรฐาน และ 3.ด้านการดำเนินการเพื่อสร้างความเข้าใจและขจัดการเลือกปฏิบัติ โดยจัดทำแผนรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในภาพรวมระดับประเทศ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ตระหนักถึงปัญหา ลดการรังเกียจตีตราและเลือกปฏิบัติ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ ปี พ.ศ. 2560 – 2573 โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคระหว่างเพศ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ช่องทางการเข้าถึงการรับบริการ
“กระทรวงสาธารณสุข มีเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อยุติปัญหาเอดส์ในปี 2573 โดยประชาชนได้รับบริการที่มีมาตรฐานและปลอดภัย เบื้องต้นได้รับข้อเสนอดังกล่าวมาพิจารณา ซึ่งบางประเด็นเป็นปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินงาน บางประเด็นเกี่ยวข้องกับนโยบาย จึงได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับผู้แทนเครือข่ายฯ จัดทำแผนเชิงปฏิบัติการที่นำไปสู่การยุติเอดส์ โดยปรับเปลี่ยนการดำเนินงานให้สอดคล้อง เหมาะสม คำนึงถึงมาตรฐานและความปลอดภัยของผู้รับบริการ” นายแพทย์ชลน่านกล่าว
********************************************** 9 มีนาคม 2567