กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพร่วมกับฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ในการจัดทำเอกสารหลักเกณฑ์และมาตรฐานขั้นต่ำในการปกป้องเด็กจากผลกระทบการตลาดเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในระดับภูมิภาคอาเซียน โดยมี UNICEF องค์การอนามัยโลก Alive & Thrive และภาคีเครือข่าย ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ เพื่อปกป้อง คุ้มครองเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และลดการพบเห็นของการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง ซึ่งส่งกระทบต่อสุขภาพเด็กไทย

วานนี้ (18 มีนาคม 2567) นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกล่าวเปิดตัวเอกสารหลักเกณฑ์และมาตรฐานขั้นต่ำในการปกป้องเด็กจากผลกระทบที่เป็นอันตรายจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในภูมิภาคอาเซียน (Minimum Standards and Guidelines on Actions to Protect Children from the Harmful Impact of Marketing of Food and
Non-Alcoholic Beverages in the ASEAN Region) ณ ห้องประชุมสมบูรณ์ วัชโรทัย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และผ่านระบบ Web conference โดยกล่าวขอบคุณรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนทั้ง 10 ประเทศและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนร่วมในการจัดทำเอกสารฉบับนี้

คุณ Debora Comini, Regional Director, UNICEF EAPRO กล่าวแสดงความยินดีกับประเทศไทยและพร้อมสนับสนุนข้อมูลวิชาการให้กับภาครัฐ ซึ่งเอกสารฉบับนี้มีการรวบรวมข้อมูลวิชาการตามข้อเสนอแนะระดับโลกมาสู่ระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและมาตรการดำเนินงานให้ครอบคลุม และลดผลกระทบต่อสุขภาพเด็กจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์

ด้าน ดร.นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รักษาการผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1  ในฐานะประธาน ASEAN Health Cluster 1: Promoting Healthy Lifestyle ประเทศไทย กล่าวถึงสาระสำคัญในเอกสารฉบับนี้ ประกอบด้วย 12 ข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1) ประกาศเป็นนโยบายระดับประเทศ 2) ภาครัฐควรกำหนดเป็นข้อบังคับด้านกฎหมาย 3) กฎหมายควรครอบคลุมทุกวัตถุประสงค์เพื่อลดการพบเห็นในเด็กจากการทำการตลาดเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ 4) ควรกำหนดมาตรการเพื่อลดการพบเห็นและการโน้มน้าวจากการตลาดเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพเด็ก 5) กำหนดกลุ่มเป้าหมายการควบคุมในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี 6) มาตรการควรครอบคลุมทุกกลยุทธ์การตลาด 7) ให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มุ่งเป้าหมายไปที่เด็ก 8) พัฒนาเกณฑ์การจำแนกอาหารตามมาตรฐานโภชนาการ เพื่อพิจารณาอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ 9) กำหนดวิธีการกำกับและติดตามนโยบาย 10) ภาครัฐควรเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการจัดตั้งคณะกรรมการในกระบวนการพัฒนากฎหมาย 11) มีมาตรการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน และ 12) มีการประเมินผลการบังคับใช้และประสิทธิภาพของกฎหมาย

นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้กล่าวสนับสนุนการเปิดตัวเอกสารและแนวทางการนำไปใช้ประโยชน์ตามบริบทของประเทศ เพื่อเป้าหมายร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน โดยมุ่งหวังแก้ไขปัญหาทุพโภชนาการ ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี โดยเฉพาะการจัดการภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในเด็กจากการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

***

ทีมข่าวกรมอนามัย / 19 มีนาคม 2567

 



   
   


View 274    19/03/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ