กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พัฒนา ดี-มอส (D-mos) : นวัตกรรมสเปรย์กันยุง ใช้ได้กับยุงที่ดื้อสารเคมีกำจัดแมลง พร้อมส่งมอบ 10,000 ขวดแรก ให้กับครอบครัวที่มีผู้ป่วยไข้เลือดออก หรือพื้นที่ระบาด เพื่อป้องกันการถูกยุงกัด-ลดการแพร่เชื้อ

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้น จากข้อมูลรายงานการเฝ้าระวังโรคทางระบาดวิทยา กองระบาดวิทยา ณ วันที่ 13 มีนาคม 2567 ได้เปรียบเทียบสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปัจจุบันกับสถานการณ์โรคไข้เลือดออก 5 ปี ย้อนหลัง พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออก 19,386 ราย ซึ่งมากกว่าใน ปี พ.ศ. 2566 ณ ช่วงเวลาเดียวกันถึง 2.1 เท่า และมากกว่าในปี 2562 – 2565 และจากข้อมูลดังกล่าว ณ วันที่ 18 มีนาคม 2567 ยังมีจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 20,969 ราย และมีผู้เสียชีวิต 18 ราย

 

 

สำหรับแนวทางป้องกันและควบคุมการระบาดโรคไข้เลือดออกมีหลายวิธี เช่น ป้องกันกำจัดการวางไข่ของยุงลายและแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย สวมเสื้อผ้าให้มิดชิดและนอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด การใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดยุง เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามจากข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่ายุงลายดื้อต่อสารเคมีกำจัดแมลงหลายชนิดจากหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย ดังนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้วิจัยและพัฒนาสเปรย์กันยุงและยุงดื้อสารเคมีกำจัดแมลงเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก ในชื่อ ดีมอส (D-mos) ขึ้น โดยนวัตกรรมดังกล่าว มีสารออกฤทธิ์ คือ อิคาริดิน 10% จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนำไปใช้ป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยผ่านการทดสอบการระคายเคืองในสัตว์ทดลองชนิดกระต่าย ด้วยวิธี OECD Test Guideline 404 จากกลุ่มสัตว์ทดลอง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมีประสิทธิภาพป้องกันยุงและยุงดื้อสารเคมีกำจัดแมลงได้นาน 9-12 ชั่วโมง 

 

 

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนายแพทย์อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข มอบ ดีมอส (D-mos) นวัตกรรมสเปรย์กันยุงและยุงดื้อสารเคมีกำจัดแมลง จำนวน 10,000 ขวด ให้กับกระทรวงสาธารณสุข ณ ห้องประชุมอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำไปมอบให้แก่ผู้ป่วยไข้เลือดออกสำหรับทาป้องกันยุงลายกัด ลดการแพร่เชื้อไวรัสเดงกี และป้องกันการระบาดของโรคไข้เลือดออก



   
   


View 269    22/03/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ