กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิด 5 ปฏิบัติการจัดการฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 พร้อมสั่งการทีมเฝ้าระวัง และทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 1- 12 และสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่เสี่ยงอย่างใกล้ชิด  เร่งเฝ้าระวัง และดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อป้องกันลดผลกระทบสุขภาพประชาชน

          แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในการประชุมติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 ว่า ขณะนี้ประเทศไทยต้องประสบกับภาวะฉุกเฉินจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มีค่าเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะทางภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ พะเยา ส่งผลกระทบสุขภาพประชาชนเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดการเจ็บป่วย เป็นผื่นภูมิแพ้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ที่มีภาวะโรคระบบทางเดินหายใจ จากสถานการณ์ดังกล่าว หลายจังหวัดมีการเปิดระบบปฏิบัติการ PHEOC ในระดับเขตสุขภาพ เพื่อบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือประชาชน และกำหนดมาตรการป้องกันลดผลกระทบในระดับพื้นที่ แต่ยังไม่เข้าเกณฑ์การเปิดระบบศูนย์บัญชาการ (PHEOC) ในระดับกรมอนามัย

             “กรมอนามัยในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการดูแล เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนที่ได้รับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ จึงได้เปิดปฏิบัติการกรมอนามัยติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ร่วมกับทีมเฝ้าระวังระดับพื้นที่ เร่งกำหนดมาตรการและแนวทางป้องกันลดความเสี่ยงผลกระทบสุขภาพประชาชน สนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ จัดหาสิ่งสนับสนุน และแนวทางในการปฏิบัติการระดับพื้นที่เพื่อป้องกันลดผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ รวมทั้งสั่งการให้ทีมศูนย์อนามัยที่ 1 - 12 และสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง ดำเนินการปฏิบัติภารกิจในระดับพื้นที่ ดังนี้ 1) ทีมเฝ้าระวังในระดับพื้นที่ ให้รายงานสถานการณ์ PM 2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ผ่านช่องทางการเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นของกรมอนามัย และสั่งการทีมปฏิบัติการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือ ทีม SEhRT ศูนย์อนามัยและสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง ดำเนินการ คือ 1) เร่งสื่อสารเชิงรุกประชาชน สร้างความรู้ ในการป้องกันตนเองและครอบครัว เน้นย้ำสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น หลีกเลี่ยงออกนอกบ้านในช่วงฝุ่นเกินมาตรฐาน และจัททำห้องปลอดฝุ่นในครัวเรือน 2) สนับสนุนและติดตามการจัดทำห้องปลอดฝุ่นในครัวเรือน ชุมชน และสถานบริการสาธารณสุขตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข 3) ผลักดันและส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้มาตรการทางกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขควบคุมไม่ให้มีการเผาอย่างจริงจัง 4) ผลักดันให้ศูนย์บัญชาการณ์เหตุการณ์ระดับจังหวัดและเขตสุขภาพ มีคำสั่งหรือมาตรการให้งดหรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งหากค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน 5) รายงานการดำเนินงานของศูนย์อนามัยทุกสัปดาห์ ตามระบบรายงานของกระทรวงสาธารณสุข และเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน เร่งดำเนินการตามมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งบูรณาการร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระดับพื้นที่ต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย / 25 มีนาคม 2567

 



   
   


View 187    25/03/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ