ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 13 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดอาคาร รพ.นพรัตนราชธานี คุ้มเกล้า ตามนโยบาย 50 เขต 50 รพ. ดูแลประชาชน กทม. โซนตะวันออก ในเขตมีนบุรีและใกล้เคียง กว่า 8.8 หมื่นคน มีโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ ต.ค. 2566 ให้บริการผู้ป่วยนอก ทันตกรรม 8 คลินิกพิเศษเฉพาะทาง อุบัติเหตุและฉุกเฉิน เตรียมยกระดับเป็น รพ.ขนาด 120 เตียงต่อไป
วันนี้ (29 มีนาคม 2567) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี คุ้มเกล้า เขตมีนบุรี กทม. พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้มีอุปการะคุณต่อโรงพยาบาล โดยมี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ คณะผู้บริหารร่วมงานและร่วมกันปลูกต้นไม้มงคล
นพ.ชลน่านกล่าวว่า การจัดสร้างโรงพยาบาล กทม. 50 เขต 50 โรงพยาบาลและปริมณฑล เป็นหนึ่งในนโยบายการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2567 เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนสถานพยาบาลระดับทุติยภูมิในพื้นที่กทม. และเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของประชาชนที่อาศัยอยู่ในกทม. โดยจัดทำเป็นโรงพยาบาลขนาด 120 เตียง มีกรมการแพทย์ เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาสถานบริการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยก่อนหน้านี้ ได้ยกระดับโรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) ให้เป็นโรงพยาบาลเขตดอนเมือง มีโรงพยาบาลราชวิถี 2 (รังสิต) เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อดูแลประชาชนโซน กทม.ตอนเหนือ ส่วนโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี คุ้มเกล้า ที่เปิดในวันนี้ จะดูแลประชาชนโซน กทม.ฝั่งตะวันออก คือ เขตมีนบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง ประมาณ 88,000 คน ให้บริการคัดกรอง รักษา ผ่าตัดและดูแลกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉินเบื้องต้น ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่ทั่วถึงเท่าเทียม และนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีของประชาชนในเขตเมือง
นพ.โอภาสกล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าระบบการดูแลรักษาพยาบาลของประชาชนในเขตเมืองยังไม่เพียงพอต่อความต้องการและไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ กระทรวงสาธารณสุขจึงขับเคลื่อนนโยบาย 50 เขต 50 โรงพยาบาลในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เพื่อให้เกิดระบบสาธารณสุขที่สามารถดูแลประชาชนในเขตเมืองโดยเบื้องต้นได้อย่างครบวงจร และลดภาระของโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ใน กทม. ที่มีภารกิจหลักในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคยุ่งยาก ซับซ้อน ที่รับส่งต่อมาจากทั่วประเทศ โดยโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี คุ้มเกล้า เป็นหน่วยงานสังกัดกรมการแพทย์ ให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ มีขนาดพื้นที่ 20 ไร่ ตั้งอยู่แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี ได้รับการอนุเคราะห์บริจาคที่ดินจาก นายชุมพล ปัทมานุช และ น.ส.วัชรกมล ปัทมานุช ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อเดือนสิงหาคม 2562
พญ.อัมพรกล่าวว่า ช่วงการระบาดอย่างหนักของโรคโควิด 19 ในปี 2564 โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี คุ้มเกล้า ได้เปิดเป็นโรงพยาบาลสนามให้ความช่วยเหลือประชาชนกว่า 2,000 ราย หลังจากนั้นในปี 2565 ได้เริ่มเปิดเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ (Primary Care Cluster) ให้บริการผู้ป่วยนอกจนถึงปัจจุบัน รวมกว่า 4 หมื่นครั้ง โดยโรงพยาบาลฯ ประกอบด้วย 3 อาคาร ได้แก่ อาคาร 1 ให้บริการผู้ป่วยนอกและทันตกรรม มีคลินิกเฉพาะทาง 8 คลินิก เริ่มเปิดเมื่อเดือนตุลาคม 2566 อาคาร 2 ให้บริการเวชศาสตร์ฟื้นฟูสุขภาพด้วยกายภาพบำบัด เปิดให้บริการ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 และอาคาร 3 ซึ่งเป็นอาคาร 4 ชั้น ชั้นแรกเปิดให้บริการผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ชั้น 2 เปิดศูนย์ให้บริการฟอกไต และชั้น 3 - 4 จัดพื้นที่รองรับบริการผู้ป่วยใน 25 เตียง โดยมีโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อในระยะทาง 15 กิโลเมตร มีการจัดระบบสนับสนุน เช่น การตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ห้อง X-ray และอื่นๆ และมีแผนขยายศักยภาพเป็นโรงพยาบาลขนาด 120 เตียง เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างทั่วถึงแบบใกล้บ้านใกล้ใจและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นโรงพยาบาลในเขตเมืองเพื่อประชาชน (Decentralized and Connected)
*********************************** 29 มีนาคม 2567