ข้อมูล ณ วันที่ 1 เมษายน 2567

กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค

 

ภูมิหลังและความสำคัญ

       Streptococcal toxic shock syndrome (STSS) เป็นภาวะติดเชื้อที่รุนแรงที่พบได้น้อยแต่เป็นอันตรายถึงชีวิต ส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus กลุ่ม A ซึ่งเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้พบได้บ่อยในลำคอและบนผิวหนังของคนเราทั่วไป และสามารถทำให้เกิดอาการคออักเสบได้ ในกรณีที่มีความรุนแรง หรือ invasive group A streptococcal disease (iGAS) เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้สามารถเข้าไปในเนื้อเยื่อส่วนลึกและปล่อยสารพิษผ่านระบบไหลเวียนเลือด กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ จนเกิดภาวะช็อก และภาวะล้มเหลวของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายตามมา จนเสียชีวิตได้ และสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คน ผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่ และการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก ซึ่งจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเยื่อบุคอ เยื่อบุเมือกต่าง ๆ และบาดแผลบนผิวหนัง ลักษณะอาการเริ่มด้วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว และประมาณ 24 ถึง 48 ชั่วโมง จะมีอาการรุนแรงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

       จากข้อมูลสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติญี่ปุ่น (National Institute of Infectious Diseases, Japan) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 17 มีนาคม 2567 ประเทศญี่ปุ่นมีรายงานพบผู้ป่วย STSS จำนวน 521 ราย ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อ Streptococcus กลุ่ม A จำนวน 335 ราย (ร้อยละ 64.3) ซึ่งสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปี โดยมีผู้ป่วยเสียชีวิต จำนวน 77 ราย ทั้งนี้รัฐบาลประเทศญี่ปุ่นได้ออกมาแจ้งเตือนเพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนในประเทศญี่ปุ่นเฝ้าระวังอาการและเน้นย้ำการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล อาทิ การล้างมือ การสวมใส่หน้ากาก และการดูแลทำความสะอาดบาดแผล  

Streptococcal toxic shock syndrome (STSS) คืออะไร

  • สาเหตุ เป็นภาวะที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อ S. pyogenes เรียกว่า Streptococcus กลุ่ม A (Group A Strep) ซึ่งสามารถเข้าไปในเนื้อเยื่อส่วนลึกและปล่อยสารพิษผ่านระบบไหลเวียนเลือด กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ จนเกิดภาวะช็อก และภาวะล้มเหลวของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายตามมา จนเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ Streptococcus กลุ่ม B, C, G ก็ทำให้เกิด STSS ได้ แต่เกิดขึ้นน้อยกว่ากลุ่ม A
  • ลักษณะอาการ เริ่มด้วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว และโดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 24 ถึง 48 ชั่วโมง จะมีอาการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว และมีสัญญาณและอาการที่แสดงให้เห็นถึงภาวะล้มเหลวของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับวาย ไตวาย ภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน เกิดลิ่มเลือดในกระแสเลือด การอักเสบของเนื้อเยื่อ ผื่นแดงทั่วตัว อาการทางระบบประสาท  
  • การติดต่อ เชื้อ Streptococcus กลุ่ม A แพร่เชื้อจากคนสู่คน ผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่ และการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก ซึ่งจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเยื่อบุคอ เยื่อบุเมือกต่าง ๆ และบาดแผลบนผิวหนัง จากนั้นเชื้อจะแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อชั้นลึก และเข้าสู่กระแสเลือด
  • การวินิจฉัยโรค และการรักษา ใช้อาการทางคลินิกร่วมกับผลการตรวจแยกเชื้อ โดยผู้ป่วยควรได้รับการรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์

สถานการณ์ปัจจุบัน

  • สถานการณ์การติดเชื้อ Streptococcus กลุ่ม A  รวมทั้งการเกิด Streptococcal toxic shock syndrome (STSS) ในประเทศญี่ปุ่น มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่ปี 2566 โดยพบผู้ป่วย จำนวน 941 ราย
  • จากข้อมูล Infectious Diseases Weekly Report (IDWR) ตั้งแต่ 1 มกราคม – 17 มีนาคม 2567 มีรายงานผู้ป่วย STSS จำนวน 521 ราย ซึ่งสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปี ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อ Streptococcus กลุ่ม A จำนวน 335 ราย (ร้อยละ 64.3) แบ่งเป็นเพศชาย 192 ราย (ร้อยละ 57) หญิง 143 ราย (ร้อยละ 43) และแบ่งตามอายุ ดังนี้ ต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 13 ราย, ช่วงอายุ 20 จำนวน 6 ราย, ช่วงอายุ 30 ปี จำนวน 22 ราย, ช่วงอายุ 40 ปี จำนวน 46 ราย, ช่วงอายุ 50 ปี จำนวน 44 ราย, ช่วงอายุ 60 ปี จำนวน 68 ราย, ช่วงอายุ 70 ​​ปี จำนวน 76 ราย และ ช่วงอายุ 80 ปีขึ้นไป จำนวน 60 ราย โดยมีผู้ป่วยเสียชีวิต 77 ราย แบ่งเป็นเพศชาย จำนวน 44 ราย (ร้อยละ 57.1) เพศหญิง จำนวน 33 ราย (ร้อยละ 42.9) พบมากที่สุดในช่วงอายุ 50 ปี จำนวน 60 ราย

คำแนะนำสำหรับผู้เดินทาง

  • ก่อนการเดินทาง 
          -  ตรวจสอบสถานการณ์โรคในพื้นที่ที่จะเดินทางไป โดยติดตามการระบาดของโรคได้ที่เว็บไซต์ทางการของประเทศญี่ปุ่น https://www.niid.go.jp/
          -  เตรียมอุปกรณ์ในการป้องกันตนเองให้พร้อม เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ อุปกรณ์ทำความสะอาดบาดแผล เป็นต้น
          -  แนะนำให้ซื้อประกันสุขภาพล่วงหน้าก่อนการเดินทาง
  • ระหว่างการเดินทาง (ระหว่างอยู่ที่ประเทศปลายทาง)
          -  หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่แออัด
          -  รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ และทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร สวมหน้ากากอนามัย ปิดปากหรือจมูกเมื่อไอหรือจาม และระมัดระวังไม่ให้ผิวหนังเกิดบาดแผล และเมื่อมีบาดแผลให้ทำความสะอาดอย่างถูกวิธี
          -  สังเกตอาการผิดปกติของตนเอง หากมีอาการเบื้องต้น ได้แก่ เจ็บคอ มีไข้ ให้รีบพบแพทย์ และแยกตัวเองจากบุคคลใกล้ชิด
          - ผู้เดินทางกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และมีบาดแผลหรือแผลผ่าตัด ควรเพิ่มความระมัดระวังตนเอง
  • หลังกลับจากการเดินทาง
          -  ขณะนี้ยังไม่มีคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลกเรื่องการจำกัดการเดินทางในกรณีดังกล่าว ทั้งนี้ยังไม่มีคำแนะนำการคัดกรองผู้เดินทาง ณ บริเวณช่องทางเข้าออกประเทศ หากผู้เดินทางมีข้อสงสัยสามารถสอบถามและขอคำแนะนำได้จากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่าน  
          -  กรณีท่านมีอาการผิดปกติเข้าได้กับอาการแรกเริ่มของ STSS เช่น ไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบ
          -  สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากรู้สึกไม่สบาย หรือมีอาการเบื้องต้น ได้แก่ เจ็บคอ มีไข้ ให้รีบพบแพทย์ และแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบ

ข้อมูลสำหรับแพทย์และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข

       เนื่องด้วยอาการ STSS มีอาการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น หน่วยงานบริการสาธารณสุขต้องเฝ้าระวังโรคในผู้เดินทาง หากพบผู้ป่วยเข้าได้กับลักษณะอาการของ STSS และมีประวัติการเดินทางมาจากพื้นที่ที่พบผู้ป่วย ควรรีบประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วย เพื่อให้การรักษาอย่างรวดเร็วก่อนเกิดภาวะช็อก ลดความรุนแรง และการแพร่กระจายของโรคในประเทศไทย

 

** เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อสื่อสารอย่างเร็ว ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ โปรดตรวจสอบข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน

ข้อมูลเพิ่มเติม (ลิงก์ไปยังเว็บอื่น)

      -  https://www.niid.go.jp/niid/ja/group-a-streptococcus-m/2656-cepr/12594-stss-2023-2024.html
      -  https://www.niid.go.jp/niid/ja/group-a-streptococcus-m/group-a-streptococcus-iasrs/12461-528p01.html
      -  https://www.niid.go.jp/niid/images/idwr/pdf/latest.pdf
      -  https://www.cdc.gov/groupastrep/diseases-public/streptococcal-toxic-shock-syndrome.html#how-you-get-stss

**********************************************************************************************

กรมควบคุมโรคห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

 

 

 

 

 



   
   


View 138    02/04/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ