กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แจ้งเตือนวันนี้จะมีสภาพอากาศร้อนจัด โดยข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งเตือนจะมีอุณหภูมิสูงสุด 42 องศาเซลเซียส และคาดการณ์ค่าดัชนีความร้อน (Heat index) อยู่ในระดับอันตรายมาก 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล

       วานนี้ (3 เมษายน 2567) นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาความรอบรู้และพฤติกรรมสุขภาพรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรณีความร้อน ระหว่างวันที่ 2 - 3 เมษายน 2567 ณ โรงแรมไมด้า งามวงศ์วาน จังหวัดนนทบุรี ว่า สถานการณ์ความร้อนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเจ็บป่วยจากความร้อนได้ ดังนั้น จึงต้องเน้นการสื่อสารแจ้งเตือนสุขภาพของประชาชนให้มีการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน ในช่วงที่สภาพอากาศร้อนจัด ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเองเพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพจากความร้อน ได้แก่ ดื่มน้ำบ่อย ๆ โดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ สวมเสื้อผ้าสีอ่อน ระบายอากาศได้ดี สวมหมวกปีกกว้าง แว่นกันแดด และทาครีมกันแดดเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนจัดหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์ รวมถึง รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่

           นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า ประชาชนควรสังเกตอาการเสี่ยงจากโรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) ได้แก่ ผิวหนังแดงร้อน ชีพจรเต้นเร็วและแรง ปวดศีรษะ สับสน มึนงง คลื่นไส้หรืออาเจียน ความรู้สึกตัวของร่างกายเปลี่ยนไป หมดสติ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งหากพบผู้ป่วยโรคฮีทสโตรก ให้รีบปฐมพยาบาลและนำส่งโรงพยาบาล หรือโทร 1669 ทั้งนี้ ควรประเมินอาการเสี่ยงด้วยตนเองโดยใช้แบบสำรวจอนามัยโพลในเว็บไซต์กรมอนามัยหรือแอปพลิเคชัน รวมถึงติดตามการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อนจากกรมอนามัย และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมอนามัย 1478

            “สำหรับการประชุมในครั้งนี้ กรมอนามัยและหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันพัฒนาแนวทางเฝ้าระวังและสื่อสารเตือนภัยสุขภาพจากความร้อน โดยใช้ค่าดัชนึความร้อน (Heat index) เพื่อพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในระดับส่วนกลางและระดับภูมิภาค โดยได้รับเกียรติจาก พ.อ.ศ.นพ.ราม รังสินธุ์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า นายสุรพงษ์  สารปะ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ดร. วุฒิชัย แพงแก้ว กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม นางสาวปิยมาภรณ์ ดวงมนตรี ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น และนางสาวกรวิภา ปุนณศิริ กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย ร่วมให้ความรู้เรื่อง ดัชนีความร้อน ผลกระทบต่อสุขภาพ การป้องกันตนเอง และการเฝ้าระวังและสื่อสารเตือนภัยความร้อนในชุมชน เพื่อให้มีความรอบรู้และพฤติกรรมการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน ช่วยลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากความร้อนได้” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

          นายสุรพงษ์  สารปะ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ดัชนีความร้อน (Heat Index) เป็นอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้นว่าอากาศร้อนเป็นอย่างไร หรืออุณหภูมิที่ปรากฏในขณะนั้นเป็นเช่นไร (Feel Like) การเฝ้าระวังด้วยค่าดัชนีความร้อนและการติดตามสถานการณ์ความร้อนของประเทศไทยด้วยค่าดัชนีความร้อนมีความสำคัญ เนื่องจากสภาพอากาศของประเทศไทยมีสภาพอากาศร้อนชื้น ส่งผลต่อการระบายความร้อนในร่างกาย และทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้ จึงมีความสำคัญต้องเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพโดยใช้ค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ค่าดัชนีความร้อนล่วงหน้าได้ที่ เว็บไซต์ กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.rnd.tmd.go.th/heatindexanalysis/

          พ.อ.ศ.นพ. ราม รังสินธุ์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า ผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน โดยเฉพาะในช่วงสภาพอากาศร้อนจัด ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคฮีทสโตรก หรือโรคลมร้อน เนื่องจากร่างกายระบายความร้อนออกไม่ทัน โดยความร้อนที่สะสมจะทำลายศูนย์ควบคุมอุณหภูมิร่างกายที่สมอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ยังเกิดผลกระทบต่อสุขภาพไม่รุนแรง ได้แก่ ผดผื่นจากความร้อน บวมจากความร้อน ตะคริว เป็นลมแดด  จะถึงอาการรุนแรง ได้แก่ โรคเพลียแดด และโรคลมร้อน หรือ ฮีทสโตรก ได้ อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากภัยร้อน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้ จึงควรมีการสื่อสาร ให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันตนเองจากความร้อน โดยการติดตามสถานการณ์ความร้อน ดูแลร่างกายไม่ให้เกิดความเสี่ยงจากความร้อน หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงสภาพอากาศร้อนจัด ดื่มน้ำให้เพียงพอ และสังเกตุอาการตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ทั้งเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง และผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง

            ดร. วุฒิชัย แพงแก้ว กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนางสาวปิยมาภรณ์ดวงมนตรี ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น ได้ร่วมแลกเปลี่ยนตัวอย่างกลไก เครื่องมือการเฝ้าระวังและสื่อสารเตือนภัยสุขภาพจากความร้อน นวัตกรรมการเฝ้าระวังสถานการณ์ในระดับพื้นที่ โดยเน้นย้ำการสร้างความรู้ความตระหนักและความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพอากาศร้อนจัด ผ่านช่องทางต่างๆ ในชุมชน รวมถึงมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากความร้อน โดยใช้การบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และใช้กระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชน ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีความรู้และป้องกันตนเองจากความร้อนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

***

กรมอนามัย / 4 เมษายน 2567



   
   


View 174    04/04/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ