วันนี้ (5 เมษายน 2567) นายวัน อยู่บำรุง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการรณรงค์ “สงกรานต์สุขใจ ส้วมสาธารณะไทย สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน” โดยมี แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย นายสุขใจ  เจริญผล รองผู้อำนวยการฝ่ายด้านแผนพัฒนา ฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย นายอาชวิน อยู่บำรุง Happy Toilet Ambassador ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารกรมอนามัย ผู้บริหารบริษัทขนส่ง และภาคีเครือข่าย ร่วมงาน ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

           นายวัน อยู่บำรุง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ประชาชนมีการเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนา ทำให้สถานีขนส่งสาธารณะมีการรวมตัวของประชาชนเพื่อใช้บริการในการเดินทางทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนมาก และส้วมสาธารณะมีการใช้งานร่วมกันมากเช่นเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการทุกภาคส่วน ทั้งสนามบิน สถานีรถไฟ สถานีขนส่งทางบก สถานีบริการน้ำมัน ร้านอาหาร โรงแรม แหล่งท่องเที่ยว เตรียมความพร้อมในการดูแลทำความสะอาดส้วมสาธารณะให้สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวมีส้วมที่ถูกสุขลักษณะเพียงพอต่อการใช้งาน สร้างความมั่นใจในการใช้บริการส้วมสาธารณะ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน มีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกต้องเพื่อสุขอนามัยของผู้ใช้งานส้วมสาธารณะ และลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค ตลอดจนเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ ทั้งนี้ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถือเป็นสถานีขนส่งแห่งใหม่ ใจกลางกรุงเทพมหานคร ที่เปิดให้บริการและรองรับผู้โดยสารจำนวนมาก จึงได้พัฒนาส้วมสาธารณะ และผ่านเกณฑ์มาตรฐาน (HAS) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข โดย กรมอนามัยจึงได้มอบป้ายรับรองส้วมสาธารณะไทย (HAS) และ ป้าย Happy Toilet เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ

           ด้าน แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายส้วมสาธารณะในสถานที่ต่างๆ ทั้ง 12 ประเภท เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงส้วมสะอาดในทุกสถานที่ รองรับการเป็นสังคมเมือง ส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานส้วมสาธารณะระดับประเทศ (Health Accessibility Safety : HAS) ประกอบด้วย 1) สะอาด (Health) หมายถึง ส้วมจะต้องได้รับการดำเนินการให้ถูกหลักสุขาภิบาล (Sanitation Conditions) เช่น ห้องส้วมและสุขภัณฑ์ทั้งหมดจะต้องสะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็น มีวัสดุ อุปกรณ์ บริการ เช่น น้ำสะอาด สบู่ล้างมือ กระดาษชำระ เพียงพอ และมีสภาพแวดล้อมสวยงาม ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ใช้ส้วม 2) เพียงพอ (Accessibility) หมายถึง ต้องมีส้วมให้เพียงพอแก่ความต้องการ ของผู้ใช้รวมถึงผู้พิการ ผู้สูงอายุและหญิงมีครรภ์ โดยกำหนดให้ทุกสถานที่ต้องมีส้วมเสมอภาคอย่างน้อย 1 ห้อง 3) ปลอดภัย (Safety) หมายถึง ผู้ใช้บริการจะต้องปลอดภัยขณะใช้ส้วม เช่น มีแสงสว่างเพียงพอ พื้นแห้ง แยกเพศชาย หญิง สถานที่ตั้งส้วมไม่เปลี่ยว เป็นต้น และส้วมที่ดีนั้น ตัวเรือนส้วม หัวส้วม บ่อกักเก็บอุจจาระ ท่อระบายอากาศ บ่อซึม ต้องไม่มีกลิ่นเหม็นไม่มีน้ำขังบริเวณส้วม พื้นส้วมสะอาด ทำจากวัสดุที่ทำความสะอาดง่าย ภายในห้องส้วมมีการระบายอากาศดี มีน้ำสำหรับทำความสะอาดส้วม มีสบู่ล้างมือ สามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

***

กรมอนามัย/ 5 เมษายน 2567



   
   


View 149    05/04/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ