ตามที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้มีหนังสือแจ้งเตือนประชาชน เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 แจ้งการเกิดอุบัติเหตุรถบรรทุกสารเคมีพลิกคว่ำ ทำให้กรดซัลฟิวริกไหลลงสู่แม่น้ำคาน บริเวณแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 ซึ่งระยะทางจุดเกิดเหตุห่างจากอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ประมาณ 293 กิโลเมตร สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขง พบว่าสารเคมีจะเคลื่อนตัวผ่านเขื่อนไชยะบุรี วันที่ 5 เมษายน 2567 ซึ่งจะทำให้สารเคมีเจือจางลง จากนั้นจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย (จังหวัดเลย) ช่วงวันที่ 8 - 10 เมษายน 2567 และจากการประเมินในเบื้องต้นคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำแม่น้ำโขงในประเทศไทย

        สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้ติดตามสถานการณ์และประสานสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ให้พิจารณาประสาน สปป.ลาว ในการบริหารจัดการน้ำเขื่อนไซยะบุรี เพื่อเจือจางสารเคมี พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยดำเนินการตรวจวัดคุณภาพน้ำ พร้อมรายงานสถานการณ์ให้จังหวัดทราบอย่างต่อเนื่อง เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าว 

     นายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม ได้สั่งการให้สาธารณสุขอำเภอ ทั้ง 4 อำเภอที่มีพื้นที่ติดแม่น้ำโขง ประกอบด้วย อำเภอบ้านแพง อำเภอท่าอุเทน อำเภอเมืองนครพนม และอำเภอธาตุพนม ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพอย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำมาตรวจวัดคุณภาพน้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดนครพนม ในเบื้องต้นพบคุณภาพน้ำยังปกติ ไม่พบสารกรดซัลฟิวริก (Sulfuric acid) หรือกรดกำมะถัน จากการตรวจวัดคุณภาพน้ำ วันที่ 6 เมษายน 2567 เวลา 12.00 น. ทั้ง 4 อำเภอที่ติดแม่น้ำโขงของจังหวัดนครพม มีค่าความสมดุลของกรด-ด่าง อยู่ในเกณฑ์ปกติ (pH 6.5-8.5) ยังไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ และจากการตรวจวิเคราะห์คุณภาพค่าความเป็นกรดด่างอำเภอบ้านแพง ค่า pH อยู่ที่ 7.4 อำเภอบ้านท่าอุเทน ค่า pH อยู่ที่ 7.8 อำเภอเมืองนครพนม ค่า pH อยู่ที่ 7.6 และอำเภอธาตุพนม ค่า pH อยู่ที่ 7.6 

        “ขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงพี่น้องประชาชนที่สัญจร และประกอบกิจกรรมในบริเวณแม่น้ำโขง การทำประมงสัตว์น้ำ รวมทั้งผู้ที่อาศัยในพื้นที่ 4 อำเภอติดแม่น้ำโขง จากการตรวจวัดคุณภาพน้ำไม่พบสารเคมีปนเปื้อนจากกรดซัลฟิวริก แต่ต้องติดตามข้อสถานการณ์น้ำและข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่อย่างใกลัชิด จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับผู้ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากกรดซัลฟิวริก ทั้งจากพี่น้องชาว สปป.ลาว และชาวไทย จะอย่างไรก็ตาม หากพี่น้องสัมผัสแหล่งน้ำแล้วมีอาการระคายเคืองผิวหนัง ระคายเคืองดวงตา ระคายเคืองจมูกและทางเดินหายใจ มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ผิวหนังไหม้ปวดแสบปวดร้อนเกิดแผลพุพอง หรือตาพร่ามัว ตาแดง น้ำตาไหล ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการและรับการรักษาทันที” นายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าวย้ำ


 

Facebook: งานประชาสัมพันธ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม
https://www.facebook.com/share/p/4e3tn8eBtERLPLgm/?sfnsn=mo&mibextid=RUbZ1f

Facebook: R8WAY_Communication
https://www.facebook.com/share/p/qjqV9ETZiMtrfmRa/?sfnsn=mo&ref=share&mibextid=KtfwRi

 



   
   


View 61    06/04/2567   ข่าวรอบรั้วภูมิภาค    สำนักสารนิเทศ