กระทรวงสาธารณสุข สร้างแรงจูงใจบุคลากรในชนบท ปรับค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ ตามพื้นที่ทุรกันดารและขาดแคลนบุคลากร และตามระยะเวลาที่ปฏิบัติงานจริง วันนี้ (25 ธันวาคม 2551) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมชี้แจงการเบิกเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายโรงพยาบาลชุมชน ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท จ.ปทุมธานี โดยมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชน ผู้แทนทันตแพทย์ เข้าร่วมประชุมกว่า 800 คน เพื่อชี้แจงหลักเกณฑ์ แนวทางการเบิกเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย จัดทำฐานข้อมูลและข้อมูลค่าใช้จ่ายของแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลชุมชน เพื่อประกอบในการเตรียมขอตั้งเบิกงบประมาณจากรัฐบาล ตลอดจนรับทราบแนวทางการสนับสนุนและแลกเปลี่ยนแนวคิดเรื่องความก้าวหน้าของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน นายวิทยา กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกรและพยาบาล ในชนบทเป็นปัญหาเรื้อรังมาโดยตลอดหลาย 10 ปี รู้สึกเห็นใจบุคลากรกลุ่มนี้ ขอขอบคุณแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกรและพยาบาลทุกท่านที่ได้เสียสละ ปฏิบัติงานรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วย ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในชนบทมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามอยากจะขอให้ช่วยดูแลประชาชนให้มีสุขภาพดีต่อไป รัฐบาลจะพยายามสร้างแรงจูงใจ สร้างขวัญกำลังใจให้ท่านทำงานได้อย่างมีความสุข มีค่าตอบแทนที่เหมาะสม และส่งเสริมการเข้าถึงการบริการสุขภาพของประชาชนอย่างเท่าเทียม ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงฯ ได้ออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายใหม่ ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนและสถานีอนามัยในสังกัด เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติงานในพื้นที่ทุรกันดารและขาดแคลนบุคลากร เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ซึ่งผลสรุปที่ได้จากการประชุมวันนี้ จะนำเสนอให้สำนักงบประมาณและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เตรียมพิจารณาจัดสรรงบประมาณต่อไป นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า การปรับค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายสำหรับแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกรและพยาบาลวิชาชีพ ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน และพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในสถานีอนามัยครั้งนี้ อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์การแบ่งระดับโรงพยาบาลชุมชนตามลักษณะการให้บริการเป็น 3 ระดับ คือ ระดับต้นโดยแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปหรือเวชปฏิบัติครอบครัว ระดับกลางโดยแพทย์เฉพาะทางสาขาหลัก และระดับสูงโดยแพทย์เฉพาะทางสาขารอง และแบ่งระดับโรงพยาบาลชุมชนตามสภาพพื้นที่ ได้แก่ 1.พื้นที่ปกติ 2.พื้นที่ทุรกันดารและขาดแคลนบุคลากรระดับ 1 และ 3.พื้นที่ทุรกันดารและขาดแคลนบุคลากรระดับ 2 ในพื้นที่ปกติ แพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร ต้องปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนพื้นที่ปกติเป็นประจำ และมีตำแหน่งหลักอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนนั้น หรือได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนหรือหน่วยบริการในเครือข่ายของโรงพยาบาลชุมชน สำหรับในพื้นที่ทุรกันดารและขาดแคลนบุคลากรแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลวิชาชีพ ต้องปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนพื้นที่ทุรกันดารและขาดแคลนบุคลากร ตามที่คณะกรรมการที่กระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งขึ้นเป็นผู้กำหนด โดยมีการปรับปรุงรายชื่อโรงพยาบาลชุมชนตามความเหมาะสมทุกๆ 2 ปี *************************************** 25 ธันวาคม 2551


   
   


View 6    25/12/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ