นายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีที่มีข่าวเผยแพร่ภาพและคลิปของผู้หญิงรายหนึ่งสูบบุหรี่ไฟฟ้าขณะนั่งโดยสารอยู่บนเครื่องบินของสายการบินแห่งหนึ่ง ซึ่งเดินทางจากจังหวัดเชียงราย โดยก่อให้เกิดประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงและข้อสงสัยของสังคมเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมาย และอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อผู้โดยสารรอบข้าง

       ในปัจจุบัน บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อควบคุมและป้องกันเด็ก เยาวชนและประชาชนไทยจากบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ 1) ประกาศของกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 2) คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ฉบับที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า” 3) พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ในมาตรา 242 ว่าด้วยการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งเป็นสินค้าที่ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร และมาตรา 246 ว่าด้วยการครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งเป็นสินค้าที่ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร และ 4) พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ในมาตรา 42 ว่าด้วยการสูบบุหรี่ ซึ่งรวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าในเขตปลอดบุหรี่ ดังนั้น กรณีนี้เป็นการสูบบุหรี่ไฟฟ้าบนเครื่องบิน ซึ่งเครื่องบินจัดเป็นเขตปลอดบุหรี่ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดประเภทหรือชื่อของสถานที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน และยานพาหนะให้ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่และยานพาหนะเป็นเขตปลอดบุหรี่หรือเขตสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ พ.ศ. 2561 ผู้สูบจึงเข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

       นอกจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะมีความผิดตามกฎหมายข้างต้นแล้ว ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2558 อีกด้วย โดยห้ามสูบบุหรี่ในอากาศยานระหว่างการบิน ซึ่งหากฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และหากการกระทำนั้นก่อให้เกิดการขัดข้องแก่อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของอากาศยาน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น การสูบบุหรี่ไฟฟ้าบนเครื่องบินในกรณีที่เป็นข่าวนี้ จึงมีความผิดตามกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ อันได้แก่ พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท แต่ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นความผิดกรรมเดียวแต่ผิดหลายบท จึงใช้กฎหมายบทที่มีอัตราโทษหนักที่สุดลงโทษ แก่ผู้กระทำความผิด นั่นคือ ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ารายนี้ มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการ ต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

       นายแพทย์ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้ายังก่อให้เกิดไอระเหยที่ส่งผลกระทบต่อบุคคลรอบข้างด้วย เนื่องจากในควันหรือไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้ามีสารเคมีและสารปรุงแต่ง ประมาณ 7,000 ชนิด ซึ่งในจำนวนนี้ มีอย่างน้อย 10 ชนิดที่เป็นสารก่อมะเร็ง ดังนั้น บุคคลรอบข้างที่สูดดมเอาควันหรือไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้าเข้าไป จึงมีความเสี่ยงต่อสุขภาพเช่นเดียวกับการได้รับควันบุหรี่มือสอง

 

****************************

ข้อมูลจาก : กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 11 เมษายน 2567

 



   
   


View 95    11/04/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ