กรม สบส. ร่วม ตำรวจ ปคบ. บุกรวบหมอนวดเถื่อน ในร้านเสริมสวยย่านห้วยขวาง
- กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
- 15 View
- อ่านต่อ
นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน เมื่อวันที่ 5-6 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองให้น่าสนใจ และส่งเสริมให้คนรู้จักผลิตภัณฑ์และเพิ่มยอดจำหน่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งกรมวิทยาศาตร์การแพทย์เอง จะส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP/SME ด้านอาหารและเครื่องสำอางผสมสมุนไพร ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน ยกระดับผลิตภัณฑ์ สู่ Safety Product, Smart product และ Sustainable Smart product ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าพัฒนาปีละไม่น้อยกว่า 50 ผลิตภัณฑ์ สำหรับเกณฑ์การขอรับตราสัญลักษณ์ Safety Product, Smart Product และ Sustainable smart product มีอะไรบ้าง และผู้ประกอบการชุมชนจะร่วมโครงการนี้หรือขอรับตราสัญลักษณ์นี้ต้องทำอย่างไรนั้น มีดังนี้
ตราสัญลักษณ์ Safety Product จะอนุญาตให้ใช้สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอางผสมสมุนไพร ที่ได้รับการพัฒนาและผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพความปลอดภัย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เกณฑ์คุณภาพของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เกณฑ์ มผช. หรืออื่นๆ ที่เหมาะสม ทั้งนี้หากมีการตรวจผลิตภัณฑ์แล้วไม่ผ่านเกณฑ์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะดำเนินการให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์แก่ผู้ประกอบการ จนผลการตรวจมีความปลอดภัย และได้มาตรฐาน
ตราสัญลักษณ์ Smart Product จะอนุญาตให้ใช้สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอางผสมสมุนไพรที่ได้รับการพัฒนาและผ่านเกณฑ์มาตรฐานในระดับ Safety Product และยังผ่านเกณฑ์ทดสอบอื่นๆ ที่แสดงคุณค่าของผลิตภัณฑ์ เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางผสมสมุนไพรผ่านการทดสอบเอกลักษณ์สมุนไพร และด้านประสิทธิภาพการกันเสีย กรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารและเครื่องดื่ม จะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจนได้รับฉลากโภชนาการหรือได้รับขึ้นทะเบียนมาตรฐาน อย. หรือ ผ่านการรับรอง มผช. หรือได้สัญลักษณ์ฮาลาล หรือผลิตภัณฑ์ได้รับการคัดเลือกส่งเข้าประกวดรางวัล อย. หรือผลิตภัณฑ์ส่งเข้ารับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัดหรืออื่น ๆ
ตราสัญลักษณ์ Sustainable smart Product จะอนุญาตให้ใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ Smart Product ซึ่งผู้ประกอบการมีการเฝ้าระวังคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และผลการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ยังคงผ่านเกณฑ์คุณภาพและความปลอดภัย แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความใส่ใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง
สำหรับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ OTOP/SME ด้านอาหารและเครื่องสำอางผสมสมุนไพรที่สนใจร่วมโครงการ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 15 แห่งทั่วประเทศ หรือติดต่อสอบถามที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดใกล้บ้าน