กรมอนามัย เปิดตัว อนามัยโพลล์ สำรวจความนิยมเรื่องส้วมเป็นครั้งแรก พบคนกรุงเทพฯ นิยมใช้ส้วมในห้างสรรพสินค้ามากสุด เพราะสะดวก สะอาด และปลอดภัย ส่วนส้วมริมทางเดิน ตลาดสด และวัด คนไม่กล้าใช้ เนื่องจากสกปรกและไม่ปลอดภัย ปี 2550 เตรียมพัฒนาส้วมทั้งในห้างสรรพสินค้าและวัดทั่วไทยกว่า 2,000 แห่ง
บ่ายวันนี้ (17 พฤศจิกายน 2549) ที่อิมแพค เมืองทองธานี นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าว ผลสำเร็จจากการประชุมส้วมโลกและเปิดตัว อนามัยโพลล์ เรื่องผลการสำรวจความนิยมการใช้ส้วมสาธารณะ ซึ่งเป็นการทำโพลล์ครั้งแรกของกรมอนามัย เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนและวางแนวทางในการพัฒนาส้วมสาธารณะของไทย
นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมส้วมโลกครั้งนี้ มีการแบ่งหัวข้อการประชุมให้สอดคล้องกับการกำหนดมาตรฐานของส้วมสาธารณะ คือ ความสะอาด ความเพียงพอ และความปลอดภัย โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ด้านการจัดระบบสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม จากองค์การสหประชาชาติ และนักวิชาการจากประเทศต่างๆ อาทิ จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง บังคลาเทศ อินเดีย เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานในประเทศของตน ทำให้นักวิชาการของไทยได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานครอบคลุมในทุกด้าน ซึ่งในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ ประเทศไทยจะนำนักวิชาการจากต่างประเทศลงพื้นที่ เพื่อดูความสำเร็จการพัฒนาส้วมสาธารณะของไทยด้วย
นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในปี 2550 มีแผนจะพัฒนาส้วมสาธารณะในสถานที่ที่มีประชาชนใช้บริการมาก ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าและวัด ซึ่งล่าสุดกรมอนามัยได้ทำการสำรวจความนิยมการใช้ส้วมของประชาชนใน กทม. 421 คน และการใช้ส้วมในแง่ของความปลอดภัย ของผู้หญิงในกรุงเทพฯ จำนวน 416 คน เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 พบว่า ประชาชนร้อยละ 62 จะเลือกใช้บริการส้วมสาธารณะในห้างสรรพสินค้า รองลงมา เป็นสถานีบริการน้ำมัน ร้อยละ 53 ร้านอาหาร ร้อยละ 29 โดยเหตุผลที่ประชาชนจะเลือกใช้ส้วมสาธารณะมากที่สุด คือ ความสะดวก หาได้ง่าย รองลงมา คือ ความสะอาด และไม่เสียค่าบริการ ส่วนสถานที่ที่ไม่นิยมใช้บริการ ได้แก่ ส้วมริมทางเดิน ตลาดสด รถสุขาเคลื่อนที่ วัด และสวนสาธารณะ เนื่องจากสกปรก มีกลิ่นเหม็น และไม่ปลอดภัย
ผลสำรวจเรื่องความปลอดภัยในการใช้ส้วมของผู้หญิง พบว่า ร้อยละ 70 เห็นว่าส้วมในสถานที่ราชการปลอดภัยที่สุด รองลงมาได้แก่ ส้วมในห้างสรรพสินค้า ร้อยละ 60 โรงพยาบาล ร้อยละ 45 และโรงเรียน ร้อยละ 25 ส่วนสถานที่ที่คิดว่าไม่ปลอดภัย คือ ส้วมริมทางเดิน ร้อยละ 69 รองลงมาเป็น สวนสาธารณะ ร้อยละ 34 ตลาดสด ร้อยละ 31 ปั๊มน้ำมันและสถานีขนส่ง ร้อยละ 29 รถสุขาเคลื่อนที่ ร้อยละ 28 เนื่องจากเหตุผล กลัวเชื้อโรคในห้องส้วม กลัวถูกโจรกรรม กลัวถูกแอบถ่ายภาพ ตั้งอยู่ในที่เปลี่ยว และกลัวถูกทำร้ายร่างกายหรือข่มขืน
นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับส้วมในวัด ซึ่งประชาชนที่ใช้บริการส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ ต้องคำนึงถึงประเด็นของความสะดวกและปลอดภัยด้วย กรมอนามัยได้คัดเลือกแบบส้วมที่ผ่านการวิจัยแล้วว่าเหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ สำหรับสร้างในวัด และได้ประสานการดำเนินงานผ่านทางมหาเถรสมาคม โดยจะเริ่มในวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว วัดพัฒนาตัวอย่าง วัดที่เป็นที่ปฏิบัติธรรม และวัดที่เป็นอุทยานการศึกษาก่อน จำนวน 2,219 แห่งทั่วประเทศ ขณะเดียวกันก็จะมีการทำโพลล์สำรวจเกี่ยวกับความต้องการของประชาชนที่ใช้บริการส้วมของวัด เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพัฒนาส้วมในวัดด้วย
*********17 พฤศจิกายน 2549
View 15
17/11/2549
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ